คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : รูป ๒๘

รูปธรรมทั้งหมดในรูปขันธ์จำแนกออกไปตามนัยแห่งอภิธรรมเป็น ๒๘ อย่าง จัดเป็น ๒ ประเภท คือ
ก. มหาภูต ๔ รูปใหญ่, รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช และวาโย ที่เรียกกันให้ง่ายว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม, ภูตรูป ๔ ก็เรียก (ในคัมภีร์ไม่นิยมเรียกว่า มหาภูตรูป)

พึงทราบว่า ธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย หรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างที่พูดกันในภาษาสามัญนั้น เป็นการกล่าวถึงธาตุในลักษณะที่คนทั่วไปจะเข้าใจและสืี่อสารกันได้ ตลอดจนที่จะใช้ให้สำเร็จประโยชน์ เช่น ในการเจริญกรรมฐาน เป็นต้น แต่ในความหมายที่แท้จริง ธาตุเหล่านี้เป็นสภาวะพื้นฐานที่มีอยู่ในรูปธรรมทุกอย่าง เช่น ปฐวีธาตุที่เรียกให้สะดวกว่าดินนั้น มีอยู่แม้แต่ในสิ่งที่เรียกกันสามัญว่าน้ำว่าลม อโปธาตุที่เรียกให้สะดวกว่าน้ำ ก็เป็นสภาวะที่สัมผัสด้วยกายไม่ได้ (เราไม่สามารถรับรู้อาโปธาตุด้วยประสาททั้ง ๕ แต่มันเป็นสุขุมรูปที่รู้ด้วยมโน) และอาโปนั้นก็มีอยู่ในรูปธรรมทั่วไป แม้แต่ในก้อนหินแห้ง ในก้อนเหล็กร้อนและในแผ่นพลาสติก ดังนี้เป็นต้น จึงมีประเพณีจำแนกธาตุสี่แต่ละอย่างนั้นเป็น ๔ ประเภท ตามความหมายที่ใช้ในแง่และระดับต่างๆ คือเป็นธาตุในความหมายที่แท้โดยลักษณะ (ลักขณะ) ธาตุในสภาพมีสิ่งประกอบปรุงแต่งที่มนุษย์เข้าถึงเกี่ยวข้องตลอดจนใช้งานใช้การซึ่งถือเป็นธาตุอย่างนั้นๆ ตามในลักษณะเด่นที่ปรากฎ (ลสัมภาร) ธาตุในความหมายที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน (นิมิต หรือ อารมณ์) ธาตุในความหมายตามที่สมมติเรียกกัน (สมมติ) ดังต่อไปนี้

ปฐวีธาตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ลักขณปฐวี ปฐวีโดยลักษณะ ได้แก่ ภาวะแข้นแข็งแผ่ไป เป็นที่ตั้งอาศัยให้ปรากฏตัวของประดารูปที่เกิดร่วม (เรียก ปรมัตถปฐวีบ้าง กักขฬปฐวี บ้าง ก็มี) ๒. สสัมภารปฐวี ปฐสีโดยพร้อมด้วยเครื่องประกอบภายในกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ภายนอกตัว เช่น ทอง เงิน เหล็ก กรวด ศิลา ภูเขา ๓. อารัมมณปฐวี ปฐวีโดยเป็นอารมณ์ คือดินเป็นอารมณ์ในกรรมฐาน โดยเฉพาะมุ่งเอาปฐวีกสิณที่เป็นปฏิภาคนิมิต (เรียก นิมิตตปฐวี บ้าง กสิณปฐวีบ้าง ก็มี) ๔. สมมติปฐวี ปฐวีโดยสมมติเรียกกันไปตามที่ตกลงบัญญัติ เช่นที่นับถือแผ่นดินเป็นเทวดาว่าแม่พระธรณี (บัญญัติปฐวี ก็เรียก)

อาโปธาตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ลักขณอาโป อาโปโดยลักษณะ ได้แก่ ภาวะไหลซ่าน เอิบอาบ ซาบซึม เกาะกุม (เรียกปรมัตถอาโป ก็ได้) ๒. สสัมภารอาโป อาโปโดยพร้อมด้วยเครื่องประกอบภายในกาย เช่น ดี เสมหะ หนอง เลือด เหงื่อ ภายนอกตัว เช่น น้ำดื่ม น้ำชา น้ำยา น้ำผลไม้ น้ำฝน น้ำผึ้ง น้ำตาล ห้วยละหาน แม่น้ำ คลอง บึง ๓.อารัมมณอาโป อาโปโดยเป็นอารมณ์ คือน้ำที่เป็นนิมิตในกรรมฐาน (เรียก นิมิตตอาโป หรือกสิณอาโป ก็ได้) ๔.สมมติอาโป อาโปโดยสมมติเรียกกันไปตามที่ตกลงบัญญัติ เช่นที่นับถือน้ำเป็นเทวดา เรียกว่าแม่พระคงคา พระพิรุณ เป็นต้น (บัญญัติอาโป ก็เรียก)

เตโชธาตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ลักขณเตโช เตโชโดยลักษณะ ได้แก่ สภาวะที่ร้อน ความร้อน ภาวะที่แผดเผา สภาวะที่ทำให้ย่อยสลาย (เรียก ปรมัตถเตโช ก็ได้) ๒. สสัมภารเตโช เตโชโดยพร้อมด้วยเครื่องประกอบ ภายในกาย เช่น ไอร้อนของร่างกาย ไฟที่เผาผลาญย่อยอาหาร ไฟที่ทำกายให้ทรุดโทรม ภายนอกตัว เช่น ไฟถ่าน ไฟฟืน ไฟน้ำมัน ไฟป่า ไฟหญ้า ไฟฟ้า ไอแดด ๓. อารัมมณเตโช เตโชโดยเป็นอารมณ์ คือไฟที่เป็นนิมิตในกรรมฐาน (เรียก นิมิตตเตโช หรือกสิณเตโช ก็ได้) ๔. สมมติเตโช เตโชโดยสมมติเรียกกันไปตามที่ตกลงบัญญัติ เช่นที่นับถือไฟเป็นเทวดา เรียกว่าแม่พระเพลิง พระอัคนีเทพ เป็นต้น (บัญญัติเตโช ก็เรียก)

วาโยธาตุ ๔ อย่างคือ ๑. ลักขณวาโย วาโยโดยลักษณะ ได้แก่ สภาวะที่สั่นไหว ค้ำจุน เคร่งตึง (เรียก ปรมัตถวาโย ก็ได้) ๒. สสัมภารวาโย วาโยโดยพร้อมด้วยเครื่องประกอบ ภายในกาย เช่น ลมหายใจ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมหาว ลมเรอ ภายนอกตัว เช่น ลมพัดลม ลมสูบยางรถ ลมเป่าไฟให้โชน ลมร้อน ลมหนาว ลมพายุ ลมฝน ลมเหนือ ลมใต้ ๓. อารัมมณวาโย วาโยโดยเป็นอารมณ์ คือลมที่เป็นนิมิตในกรรมฐาน (เรียก นิมิตตวาโย หรือ กสิณวาโย ก็ได้) ๔. สมมติวาโย วาโยโดยสมมติเรียกกันไปตามที่ตกลงบัญญัติ เช่นที่นับถือลมเป็นเทวดา เรียกว่าพระมารุต พระพาย เป็นต้น (บัญญัติวาโย ก็เรียก); ดู ธาตุ, ปฐวีธาตุ, อาโปธาตุ, เตโชธาตุ, วาโยธาตุ
ข. อุปาทายรูป ๒๔ รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องมาจากมหาภูต, อาการของภูตรูป, อุปาทารูป ๒๔ ก็เรียก, มี ๒๔ คือ ก.ประสาท หรีือ ปสาทรูป ๕ ได้แก่ จักขุ ตา, โสต หู, ฆานะ จมูก, ชิวหา ลิ้น, กาย, มโน ใจ ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป (รูปที่เป็นอารมณ์) ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (โผฏฐัพพะไม่นับเข้าจำนวน เพราะตรงกับปฐวี เตโช วาโย ซึ่งเป็นมหาภูตรูป) ค. ภาวรูป ๒ ได้แก่ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และ ปุริสภาวะ ความเป็นชาย ง. หทัยรูป คือ หทัยวัตถุ หัวใจ จ. ชีวิตรูป ๑ คือ ชีวิตินทรีย์ ภาวะที่รักษารูปให้เป็นอยู่ ฉ. อาหารรูป ๑ คือ กวฬิงการาหาร อาหารที่กินเกิดเป็นโอชา ช. ปริจเฉทรูป ๑ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง ญ. วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติ ไหวกายให้รู้ความ วจีวิญญัติ ไหววาจาให้รู้ความ คือพูด ฎ. วิการรูป ๕ อาการดัดแปลงต่างๆ ได้แก่ ลหุตา ความเบา, มุฑุตา ความอ่อน, กัมมัญญตา ความควรแก่งาน, (อีก ๒ คือ วิญญัติรูป ๒ นั่นเอง ไม่นับอีก) ฏ. ลักขณรูป ๔ ได้แก่ อุปจยะ ความเติบขึ้นได้, สันตติ สืบต่อได้, ชรตา ทรุดโทรมได้, อนิจจตา ความสลายไม่ยั่งยืน (นับโคจรรูปเพียง ๔ วิการรูปเพียง ๓ จึงได้ ๒๔)

รูป ๒๘ นั้น นอกจากจัดเป็น ๒ ประเภทหลักอย่างนี้แล้ว ท่านจัดแยกประเภทเป็นคู่ๆ อีกหลายคู่ พึงทราบโดยสังเขป ดังนี้
คู่ที่ ๑: นิปผันนรูป (รูปที่สำเร็จ คือเกิดจากปัจจัยหรือสมุฏฐาน อันได้แก่ กรรม จิต อุตุ อาหาร โดยตรง มีสภาวลักษณะของมันเอง มี ๑๘ คือที่มิใช่ อนิปผันนรูป (รูปที่มิได้สำเร็จจากปัจจัยหรือสมุฏฐานโดยตรง ไม่มีสภาวลักษณะของมันเอง เป็นเพียงอาการสำแดงของนิปผันนรูป) ซึ่งมี ๑๐ คือ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔
คู่ที่ ๒: อินทรียรูป (รูปที่เป็นอินทรีย์ คือเป็นใหญ่ในหน้าที่) มี ๘ คือ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ ชีวิตรูป ๑ อนินทรียรูป (รูปที่มิใช่เป็นอินทรีย์) มี ๒๐ คือ ที่เหลือจากนั้น
คู่ที่ ๓: อุปาทินนรูป (รูปที่ตัณหาและทิฏฐิยึดครอง คือรูปที่เกิดแต่กรรม ที่เป็นอกุศลและโลกิยกุศล) ได้แก่กัมมชรูป มี ๑๘ คือ อินทรียรูป ๘ นั้น หทัยรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ อนุปาทินนรูป (รูปที่ตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดครอง มิใช่กัมมชรูป) ได้แก่รูป ๑๐ อย่างที่เหลือ (คือสัททรูป ๑ วิญญัตติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔)

สำหรับคู่ที่ ๓ นี้ มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจซับซ้อนสักหน่อย คือ ที่กล่าวมานั้นเป็นการอธิบายตามคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี แต่ในโมหวิจเฉทนี ท่านกล่าวว่า อุปาทินนรูป มี ๙ เท่านั้น ได้แก่อินทรียรูป ๘ และหทัยรูป ๑ อนุปาทินนรูป ได้แก่รูป ๑๙ อย่างที่เหลือ (คือ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ สัททรูป ๑ วิญญัตติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔); ที่ท่านว่าอย่างนี้ มิได้ขัดกัน ดังที่ปัญจิกา ชี้แจงว่า ที่นับอุปาทินนรูปเป็น ๙ ก็เพราะเอาเฉพาะเอกันตกัมมชรูป คือรูปที่เกิดจากกรรมอย่างเดียวแท้ๆ (ไม่มีในอุตุชรูป เป็นต้น) ซึ่งมีเพียง ๙ อย่างดังที่กล่าวแล้ว (คือ อินทรียรูป ๘ และหทัยรูป ๑) ส่วนกัมมชรูปอีก ๙ อย่าง (อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑) ไม่นับเข้าด้วย เพราะเป็น อเนกันตกัมมชรูป คือมิใช่เป็นรูปที่เกิดจากกรรมอย่างเดียวแท้ (จิตตชรูปก็ดี อุตุชรูปก็ดี อาหารชรูปก็ดี ล้วนมีรูป ๙ อย่างนี้เหมือนกับกัมมชรูปทั้งนั้น)

โดยนัยนี้ เมื่อนับอเนกันตกัมมชรูป (ยอมรับรูปที่ซ้ำกัน) รวมเข้ามาด้วย ก็จึงมีวิธีพูดแสดงความหมายของรูปคู่ที่ ๓ นี้แบบปนรวมว่า อุปาทินนรูป ได้แก่ กัมมชรูป ๑๘ คือ อินทรียรูป ๘ หทัยรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ อนุปาทินนรูป ได้แก่ จิตตชรูป ๑๕ (รูปที่เกิดแต่จิต: วิญญัตติรูป ๒ วิการรูป ๓ สัททรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑) อุตุชรูป ๑๓ (รูปที่เกิดแต่อุตุ: วิการรูป ๓ สัททรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑) อาหารชรูป ๑๒ (รูปที่เกิดแต่อาหาร: วิการรูป ๓ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑)
คู่ที่ ๔: โอฬาริกรูป (รูปหยาบ ปรากฏชัด) มี ๑๒ คือปสาทรูป ๕ วิสัยรูป ๗ สุขุมรูป (รูปละเอียด รับรู้ทางประสาททั้ง ๕ ไม่ได้ รู้ได้แต่ทางมโนทวาร) มี ๑๖ คือ ที่เหลือจากนั้น
คู่ที่ ๕: สันติเกรูป (รูปใกล้ รับรู้ง่าย) มี ๑๒ คือ ปสาทรูป ๕ วิสัยรูป ๗ ทูเรรูป (รูปไกล รับรู้ยาก) มี ๑๖ คือ ที่เหลือจากนั้น [เหมือนคู่ที่ ๔]
คู่ที่ ๖: สัปปฏิฆรูป (รูปที่มีการกระทบให้เกิดการรับรู้) มี ๑๒ คือ ปสาทรูป ๕ วิสัยรูป ๗ อัปปฏิฆรูป (รูปที่ไม่มีการกระทบ ต้องรู้ด้วยใจ) มี ๑๖ คือ ที่เหลือจากนั้น [เหมือนคู่ที่ ๔]
คู่ที่ ๗: สนิทัสสนรูป (รูปที่มองเห็นได้) มี ๑ คือ วัณณะ ๑ (ได้แก่รูปารมณ์) อนิทัสสนรูป (รูปที่มองเห็นไม่ได้) มี ๒๗ คือ ที่เหลือจากนั้น
คู่ที่ ๘: วัตถุรูป (รูปเป็นที่ตั้งอาศัยของจิตและเจตสิก) มี ๖ คือ ปสาทรูป ๕ หทัยรูป ๑ อวัตถุรูป (รูปอันไม่เป็นที่ตั้งอาศัยของจิตและเจตสิก) มี ๒๒ คือ ที่เหลือจากนั้น
คู่ที่ ๙: ทวารรูป (รูปเป็นทวาร คือเป็นทางรับรู้ของวิญญาณห้า และทางทำกายกรรมและวจีกรรม) มี ๗ คือ ปสาทรูป ๕ วิญญัตติรูป ๒ อทวารรูป (รูปอันมิใช่เป็นทวาร) มี ๒๑ คือ ที่เหลือจากนั้น
คู่ที่ ๑๐: อัชฌัตติกรูป (รูปภายใน ฝ่ายของตนที่จะรับรู้โลก) มี ๕ คือ ปสาทรูป ๕ พาหิรรูป (รูปภายนอก เหมือนเป็นพวกอื่น) มี ๒๓ คือ ที่เหลือจากนั้น
คู่ที่ ๑๑: โคจรัคคาหิกรูป (รูปที่รับโคจร คือรับรู้อารมณ์ห้า) มี ๕ คือ ปสาทรูป ๕ (แยกย่อยเป็น ๒ พวก ได้แก่ สัมปัตตโคจรัคคาหิกรูป รูปซึ่งรับอารมณ์ที่ไม่มาถึงตนได้ มี ๒ คือ จักขุ และโสตะ กับ อสัมปัตตโคจรัคคาหิกรูป รูปซึ่งรับอารมณ์ที่มาถึงตน มี ๓ คือฆานะ ชิวหาและกาย) อโคจรัคคาหิกรูป (รูปที่รับโคจรไม่ได้) มี ๒๓ คือ ที่เหลือจากนั้น [เหมือนคู่ที่ ๑๐]
คู่ที่ ๑๒: อวินิพโภครูป (รูปที่แยกจากกันไม่ได้) มี ๘ คือ ภูตรูป ๔ วัณณะ ๑ คันธะ ๑ รสะ ๑ โอชา (คืออาหารรูป) ๑ [ที่ประกอบกันเป็นหน่วยรวมพื้นฐานของรูปธรรม ที่เรียกว่า "สุทธัฏฐกกลาป"] วินิพโภครูป (รูปที่แยกจากกันได้) มี ๒๐ คือ ที่เหลือจากนั้น

นอกจากรูปที่จัดประเภทเป็นคู่ดังที่กล่าวมานี้แล้ว ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงรูปชุดท่ี่มี ๓ ประเภท ซึ่งเทียบได้กับที่แสดงข้างต้น คือ (เช่น ที.ปา.11/228/229) สนิทัสสนสัปปฏิฆรูป (รูปที่มองเห็นและมีการกระทบให้เกิดการรับรู้ได้) มี ๑ ได้แก่รูปารมณ์ คือวัณณะ อนิทัสสนสัปปฏิฆรูป (รูปที่มองเห็นไม่ได้ แต่มีการกระทบได้) ได้แก่โอฬาริกรูป ๑๑ ที่เหลือ อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป (รูปที่มองเห็นไม่ได้และไม่มีการกระทบให้เกิดการรับรู้ ต้องรู้ด้วยใจ) ได้แก่ สุขุมรูป ๑๖

รูปอีกชุดหนึ่งที่กล่าวถึงบ่อย และควรทราบ คือชุดที่จัดตามสมุฏฐาน เป็น ๔ ประเภท ได้แก่ กัมมชรูป ๑๘ จิตตชรูป ๑๕ อุตุชรูป ๑๓ และอาหารชรูป ๑๒ พึงทราบตามที่กล่าวแล้วในคู่ที่ ๓ ว่าด้วยอุปาทินนรูป และอนุปาทินนรูป ข้างต้น