คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : จูฬมัชฌิมมหาศีล

จูฬศีล (ศีลย่อย) มัชฌิมศีล (ศีลกลาง) และ มหาศีล (ศีลใหญ่), หมายถึงศีลที่เป็นหลักความประพฤติของพระภิกษุ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแจกแจงไว้ในพระสูตรบางสูตร (ปรากฏในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค คือ พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย เล่ม ๙ ทั้ง ๑๓ สูตร มีสาระเหมือนกันหมด) และเนื่องจากมีรายละเอียดมากมาย พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงจัดเป็น ๓ หมวด และตั้งชื่อหมวดอย่างที่กล่าวนั้นตามลำดับ, ในพระสูตรแรกที่ตรัสแสดงศีลชุดนี้ (คือ พรหมชาลสูตร) พระองค์ตรัสเพื่อให้รู้กันว่า เรื่องที่ปุถุชนจะเอามากล่าวสรรเสริญพระองค์ ก็คือความมีศีลอย่างนี้ ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องต่ำๆ เล็กน้อย แต่เรื่องที่จะใช้เป็นข้อสำหรับสรรเสริญพระองค์ได้ถูกต้องนั้น เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซึ่งบัณฑิตจะพึงรู้ คือการที่ทรงมีพระปัญญาที่ทำให้ข้ามพ้นทิฏฐิที่ผิดทั้ง ๖๒ ประการ ส่วนในพระสูตรนอกนั้น ตรัสศีลชุดนี้เพื่อให้เห็นลำดับการปฏิบัติของบุคคลที่มีศรัทธาออกบวชแล้ว ว่าจะดำเนินก้าวไปอย่างไร โดยเริ่มด้วยเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ เมื่อพร้อมอย่างนี้แล้ว ก็เจริญสมาธิ จนเข้าถึงจตุตถฌาน แล้วโน้มจิตที่เป็นสมาธิดีแล้วนั้น ให้มุ่งไปเพื่อญาณทัศนะ แล้วก้าวไปในวิชชา ๘ ประการ จนบรรลุอาสวักขยญาณในที่สุด โดยเฉพาะในขั้นต้นที่ตรัสถึงศีลนั้น พระองค์ได้ทรงตั้งเป็นคำถามว่า “ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างไร?” จากนั้นจึงได้ทรงแจกแจงรายละเอียดในเรื่องศีลอย่างมากมาย ดังที่เรียกว่า จูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล ที่กล่าวนี้

พึงสังเกตว่า ในพระสูตรทั้งหลายทรงจำกัดความ หรือแสดงความหมายของ “ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล” ด้วยจูฬมัชฌิมมหาศีลชุดนี้ หรือไม่ก็ตรัสอธิบายเพียงสั้นๆ ว่า (เช่น องฺ.จตุกฺก.21/37/50) “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษแม้แค่นิดหน่อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย” ส่วนในอรรถกถามีบ่อยครั้ง (เช่น ม.อ.2/12/54; สํ.อ.๓/๑๕๔/๑๙๗; อิติ.อ.๕๖/๕๔๕) ที่อธิบาย “ความถึงพร้อมด้วยศีล” ว่าหมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงวิธีอธิบาย ซึ่งในที่สุดก็ได้สาระอันเดียวกัน กล่าวคือศีลที่ตรัสในพระสูตร ไม่ว่าโดยย่อหรือโดยพิสดาร และศีลที่อรรถกถาจัดเป็นชุดขึ้นมานั้น ก็คือความประพฤติที่เป็นวิถีชีวิตของพระภิกษุ ซึ่งเป็นจุดหมายของการบัญญัติประดาสิกขาบทในพระวินัยปิฎก และเป็นผลที่จะเกิดมีเมื่อได้ปฏิบัติตามสิกขาบทเหล่านั้น

เนื่องจากจูฬศีล (ในภาษาไทย นิยมเรียกว่า จุลศีล) มัชฌิมศีล และมหาศีลที่ตรัสไว้ ยืดยาว มีรายละเอียดมาก ในที่นี้ จะแสดงเพียงหัวข้อที่จะขยายเองได้ หรือพอให้เห็นเค้าความ (ผู้ต้องการรายละเอียด พึงดูที.สี.9/3-25/5-15; ที.สี.9/103-120/83-92)

จูฬศีล

๑ . ล ะ ป า ณ า ติบ า ต … ๒ . ล ะอทินนาทาน… ๓.ละอพรหมจรรย์… ๔.ละมุสาวาท… ๕.ละปิสุณาวาจา… ๖.ละผรุสวาจา… ๗.ละสัมผัปปลาปะ… ๘.เว้นจากการพรากพีชคามและภูตคาม ๙.ฉันมื้อเดียว…งดจากการฉันในเวลาวิกาล ๑๐.เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีและดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล ๑๑.เว้นจากการทัดทรงประดับและตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว ๑๒.เว้นจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ๑๓.เว้นจากการรับทองและเงิน ๑๔.เว้นจากการรับธัญญาหารดิบ ๑๕.เว้นจากการรับเนื้อดิบ ๑๖.เว้นจากการรับสตรีและกุมารี ๑๗.เว้นจากการรับทาสีและทาส ๑๘.เว้นจากการรับแพะและแกะ ๑๙.เว้นจากการรับไก่และสุกร ๒๐.เว้นจากการรับช้าง โค ม้า และลา ๒๑.เว้นจากการรับไร่นาและที่ดิน ๒๒.เว้นจากการประกอบทูตกรรมรับใช้เดินข่าว ๒๓.เว้นจากการซื้อการขาย ๒๔.เว้นจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอมและการโกงด้วยเครื่องตวงวัด ๒๕.เว้นจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง ๒๖.เว้นจากการเฉือนหั่น ฟัน ฆ่า จองจำ ตีชิง ปล้น และกรรโชก

มัชฌิมศีล

๑.เว้นจากการพรากพีชคามและภูตคาม (แจกแจงรายละเอียดด้วย มิใช่เพียงกล่าวกว้างๆ อย่างในจูฬศีล, ในข้อต่อๆ ไป ก็เช่นกัน) ๒.เว้นจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ ๓.เว้นจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล ๔.เว้นจากการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๕.เว้นจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ๖.เว้นจากการมัววุ่นประดับตกแต่งร่างกาย ๗.เว้นจากติรัจฉานกถา (ดู ติรัจฉานกถา) ๘.เว้นจากถ้อยคำทุ่มเถียง แก่งแย่ง ๙.เว้นจากการประกอบทูตกรรมรับใช้เดินข่าว ๑๐.เว้นจากการพูดหลอกลวงเลียบเคียงทำเลศหาลาภ

มหาศีล

๑.เว้นจากมิจฉาชีพด้วยติรัจฉานวิชา (จำพวกทำนายทายทัก ทำพิธีเกี่ยวกับโชคลาง เสกเป่า เป็นหมอดู หมองู หมอผี, แจงรายละเอียด มีตัวอย่างมาก) ๒.เว้นจากมิจฉาชีพด้วยติรัจฉานวิชา (จำพวกทายลักษณะคน ลักษณะของลักษณะสัตว์) ๓.เว้นจากมิจฉาชีพด้วยติรัจฉานวิชา (จำพวกดูฤกษ์ดูชัย) ๔.เว้นจากมิจฉาชีพด้วยติรัจฉานวิชา (จำพวกทำนายจันทรคราส สุริยคราส อุกกาบาต และนักษัตรที่เป็นไปและที่ผิดแปลกต่างๆ) ๕. เว้นจากมิจฉาชีพด้วยติรัจฉานวิชา (จำพวกทำนายชะตาบ้านเมือง เรื่องฝนฟ้า ภัยโรค ภัยแล้ง ภัยทุพภิกขา เป็นต้น) ๖.เว้นจากมิจฉาชีพด้วยติรัจฉานวิชา (จำพวกให้ฤกษ์ แก้เคราะห์ เป็นหมอเวทมนตร์ ทรงเจ้า บวงสรวง สู่ขวัญ) ๗.เว้นจากมิจฉาชีพด้วยติรัจฉานวิชา (จำพวกทำพิธีบนบาน แก้บน ทำพิธีตั้งศาล ปลูกเรือน บำบวงเจ้าที่ บูชาไฟ เป็นหมอยา หมอผ่าตัด)

จะเห็นว่า จูฬมัชฌิมมหาศีลทั้งหมดนี้ เน้นศีลด้านที่ท่านจัดเป็นอาชีวปาริสุทธิศีล และที่ตรัสรายละเอียดไว้มาก ในพระสูตรกลุ่มนี้ น่าจะเป็นเพราะทรงมุ่งให้เห็นวิถีชีวิตและลักษณะความประพฤติของพระสงฆ์ในพระพุทธ ศาสนา ที่แตกต่างจากสภาพของนักบวชมากมายที่เป็นมาและเป็นไปในสมัยนั้น
ดู ปาริสุทธิศีล, ดิรัจฉานวิชา