คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : เจตนา

ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตจำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นประธานในสังขารขันธ์ และเป็นตัวการในการทำกรรม หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมทีเดียว ดังพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่า “เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม”; เจตนา ๓ คือ เจตนาใน ๓ กาล ซึ่งใช้เป็นข้อพิจารณาในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม ได้แก่ ๑. ปุพพเจตนา เจตนาก่อนจะทำ ๒. สันนิฏฐาปกเจตนา เจตนาอันให้สำเร็จการกระทำหรือให้สำเร็จความมุ่งหมาย ๓. อปรเจตนา เจตนาสืบเนื่องต่อๆ ไปจากการกระทำนั้น (อปราปรเจตนา ก็เรียก), เจตนา ๓ นี้ เป็นคำในชั้นอรรถกถา แต่ก็โยงกับพระไตรปิฎก โดยเป็นการสรุปความในพระไตรปิฎกบ้าง เป็นการสรรถ้อยคำที่จะใช้อธิบายหลักกรรมตามพระไตรปิฎกนั้นบ้าง เฉพาะอย่างยิ่ง ใช้แนะนำเป็นหลักในการที่จะทำบุญคือกรรมที่ดี ให้ได้ผลมาก และมักเน้นใเรื่องทาน (แต่ในเรื่องทานนี้ เจตนาที่ ๒ ท่านมักเรียกว่า “มุญจนเจตนา” เพื่อให้ชัดว่าเป็นความตั้งใจในขณะให้ทานจริงๆ คือขณะที่ปล่อยของออกไป แทนที่จะใช้ว่าสันนิฏฐาปกเจตนา หรือความจงใจอันให้สำเร็จการกระทำ ซึ่งในหลายกรณี ไม่ตรงกับเวลาของเหตุการณ์ เช่น คนที่ทำบาปโดยขุดหลุมดักให้คนอื่นตกลงไปตาย เมื่อคนตกลงไปตายสมใจเจตนาที่ลุผลให้ขุดหลุมดักสำเร็จในวันก่อน เป็นสันนิฏฐาปกเจตนา) ดังที่ท่าน สอนว่า ควรถวายทานหรือให้ทานด้วยเจตนาในการให้ ที่ครบทั้ง ๓ กาล คือ ๑. ก่อนให้ มีใจยินดี (ปุพพเจตนา หรือบุพเจตนา) ๒. ขณะให้ ทำใจผ่องใส (มุญจนเจตนา) ๓. ให้แล้ว ชื่นชมปลื้มใจ (อปรเจตนา), คำอธิบายของอรรถกถานี้ก็อ้างพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกนั่นเอง โดยเฉพาะหลักเรื่องทักขิณาที่พร้อมด้วยองค์ ๖ อันมีผลยิ่งใหญ่ ซึ่งในด้านทายกหรือทายิกา คือฝ่ายผู้ให้ มีองค์ ๓ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในเรื่องการถวายทานของเวฬุกัณฏกีนันทมารดา (อง.ฉกฺก.22/308/375) ว่า “ปุพฺเพว ทานา สุมโน โหติ ก่อนให้ ก็ดีใจ, ททํ จิตฺตํ ปสาเทติ กำลังให้อยู่ ก็ทำจิตให้ผุดผ่องเลื่อมใส, ทตฺวา อตฺตมโน โหติ ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นชมปลื้มใจ”
ดู กรรม, ทักขิณา, เวฬุกัณฏกีนันทมารดา