คำศัพท์ :
คันธกุฎีพระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า, เป็นคำเรียกที่ใช้ทั่วไปในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา แต่ในพระไตรปิฎก พบใช้เฉพาะในคัมภีร์
อปทาน เพียง ๖ ครั้งตอนที่ว่าด้วยประวัติของพระอรหันตเถระ
(เถราปทาน) คือ เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีต บางทีเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีตนั้นว่า
คันธกุฎี (พบ ๔ พระองค์ คือ พระคันธกุฎีของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ๑ แห่ง ๒ ครั้ง, ขุ.อป.
32/18/85; ของพระติสสพุทธเจ้า ๑ แห่ง ๑ ครั้ง, ขุ.อป.
32/172/272; ของพระผุสสพุทธเจ้า ๑ แห่ง ๑ ครั้ง, ขุ.อป.
33/131/220;ของพระกัสสปพุทธเจ้า ๑ แห่ง ๒ ครั้ง, ขุ.อป.
33/140/250) และตอนที่ว่าด้วยประวัติของพระอรหันตเถรี
(เถรีอปทาน) พบแห่งหนึ่ง เรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันว่า
คันธเคหะ (ขุ.อป.
33/158/306) ซึ่งก็ตรงกับคำว่าคันธกุฎีนั่นเอง แต่คัมภีร์อื่นทั่วไปในพระไตรปิฎก ไม่มีที่ใดเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีตก็ตาม พระองค์ปัจจุบันก็ตามว่า “คันธกุฎี” (ในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทยบางฉบับ ตอนว่าด้วยคาถาของพระเถระ คือ
เถรคาถา มีคำว่า “คันธกุฎี” ๒-๓ ครั้ง พึงทราบว่าเป็นเพียงคำแปลตามอรรถกถา ไม่ใช่คำบาลีเดิมในพระไตรปิฎกบาลี)
ในพระไตรปิฎกโดยทั่วไป แม้แต่ในพระสูตรทั้งหลาย (ไม่ต้องพูดถึงพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งตามปกติไม่กล่าวถึง
บุคคลและสถานที่) ท่านกล่าวถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้าเพียงแค่อ้างอิงสั้นๆ ว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมครั้ง
นั้นเมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด เช่นว่า เมื่อประทับที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เมืองสาวัตถี, ที่พระเวฬุวันสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแตเมืองราชคฤห์, ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์, ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี, ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี, ที่นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะ ดังนี้เป็นต้น น้อยนักจะระบุอาคารที่ประทับ (ดังเช่น “กเรริกุฎี” ได้ถูกระบุชื่อไว้ครั้งหนึ่ง ในคราวประทับที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเมืองสาวัตถี, ที.ม.10/1/1) แม้ว่าในบางพระสูตรจะเล่าเหตุการณ์ที่ดำเนินไประหว่างการแสดงธรรมที่เป็นเรื่องยาวซึ่งมีการเสด็จเข้าไปทรงพักในที่ประทับท่านก็เล่าเพียงสั้นๆ ว่า “เสด็จเข้าสู่พระวิหาร” “เสด็จออกจากพระวิหาร” “เสด็จประทับ ณ อาสนะที่จัดไว้ในร่มเงาพระวิหาร” เป็นต้น และคำว่า “วิหาร” นี่แหละที่อรรถกถาไขความว่าเป็น “คันธกุฎี”(เช่นว่า “วิหารนฺติ คนฺธกุฏึ”, องฺ.อ.๓/๖๔;“เอกวิหาเรติ เอกคนฺธกุฏิยํ”, อุ.อ.๓๓๓)
คัมภีร์รุ่นหลังในพระไตรปิฎก ที่มิใช่พุทธพจน์ ดังเช่นเถราปทาน และคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา มีลักษณะที่เน้นการจรรโลงศรัทธาโดยอิงเรื่องวัตถุอลังการและย้ำการบำเพ็ญทาน นอกจากใช้คำว่าคันธกุฎีเป็นสามัญแล้ว (พบคำนี้ในคัมภีร์ต่างๆ ประมาณ ๕๖๐ ครั้ง) ยังได้บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับพระคันธกุฎีไว้มากมาย เช่น เล่าเรื่องว่า ผู้มีทรัพย์คนหนึ่งได้สร้างพระคันธกุฎีถวายแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นอาคารที่งามสง่าอย่างยิ่ง เสา อิฐฝา บานหน้าต่าง เป็นต้น แพรวพราวด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีสระโบกขรณี ๓ สระ ฯลฯ แล้วมาเกิดในพุทธกาลนี้ เป็นเศรษฐีชื่อว่าโชติกะ อีกเรื่องหนึ่งว่า คนรักษาพระคันธกุฎีของพระสิทธัตถะอดีตพุทธเจ้า ทำการอบพระคันธกุฎีให้หอมตามกาลเวลาที่เหมาะแล้วไม่เกิดในทุคติเลย ก่อนจะมาจบกิจพระศาสนาในพุทธกาลนี้ และอีกเรื่องหนึ่งว่า บุรุษหนึ่งเกิดในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วเลื่อมใส นำเอาของหอมทั้งสี่ชาติมาไล้ทาพระคันธกุฎีเดือนละ ๘ วัน จากนั้น เกิดที่ใด ก็มีกลิ่นกายหอม จนกระทั่งมาสำเร็จอรหัตตผลในพุทธกาลนี้ ต่อมาก็มีคัมภีร์ชั้นฎีกาแสดงความหมายของ “คันธกุฎี”ว่าเป็น “กุฎีซึ่งอบด้วยของหอม ๔ ชาติ”(ที.อภิ.ฏี.๑/๒๕๒; ของหอม ๔ ชาติ ได้แก่ จันทน์แดง ดอกไม้แคว้นโยนก กฤษณาและกำยาน หรือบางตำราว่า ดอกไม้แคว้นโยนก กฤษณา กำยาน และพิมเสน; ดอกไม้แคว้นโยนก คือ “ยวนะ” มักแปลกันว่า กานพลู)
คันธกุฎี ที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ที่กล่าวถึงในอรรถกถาและคัมภีร์รุ่นต่อมาทั้งหลาย โดยทั่วไปหมายถึงพระคันธกุฎีที่อนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ที่วัดพระเชตวัน ในนครสาวัตถี ซึ่งเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับบำเพ็ญพุทธกิจยาวนานที่สุด ถึง๑๙ พรรษา เป็นที่ตรัสพระสูตร และบัญญัติพระวินัยส่วนใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่ง สิกขาบทที่เป็นส่วนเฉพาะของพระภิกษุณีแทบทั้งหมดทรงบัญญัติเมื่อประทับที่นี่ (ในคัมภีร์ปริวาร ท่านนับสิกขาบทที่บัญญัติไว้ในวินัยทั้งสอง คือทั้งของภิกษุสงฆ์ และของภิกษุณีสงฆ์รวมที่ไม่ซ้ำกัน มี ๓๕๐ สิกขาบท ทรงบัญญัติ ณ พระนคร ๗ แห่ง แยกเป็นที่สาวัตถี ๒๙๔ สิกขาบท ที่ราชคฤห์ ๒๑ สิกขาบท ที่เวสาลี ๑๐ สิกขาบท ที่โกสัมพี ๘ สิกขาบท ที่เมืองอาฬวี ๖ สิกขาบท ในสักกชนทฃบท ๘ สิกขาบท ในภัคคชนบท ๓ สิกขาบท, วินย.8/1016-1018/360-361; ที่เมืองสาวัตถีนั้น แทบไม่มีที่อื่นนอกจากที่พระเชตวัน)
ในวัดพระเชตวันนั้น อรรถกถาเล่าว่ามีเรือนใหญ่ (มหาเคหะ) ๔ หลัง คือ กเรริกุฎี โกสัมพกุฎี คันธกุฎี และสลฬาคาร ใน ๔ หลังนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสร้างสลฬาคาร ส่วนอีก ๓ หลังนอกนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สร้าง; กเรริกุฎีได้ชื่ออย่างนั้น เพราะมีกเรริมณฑป คือมณฑปที่สร้างด้วยไม้กุ่มน้ำ ตั้งอยู่ด้านหน้าประตู และไม่ไกลจากกเรริมณฑปนั้น มีศาลานั่งพัก หรือหอนั่ง เรียกว่า“กเรริมัณฑลมาฬ” กเรริมณฑปตั้งอยู่ระหว่างศาลานั่งนี้ กับพระคันธกุฎี, มีเรื่องมาในหลายพระสูตรว่า ภิกษุทั้งหลายมานั่งสนทนาธรรมกันที่ศาลานั่งนี้ (และที่มัณฑลมาฬแห่งอื่นๆ ซึ่งก็มีในวัดที่เมืองอื่นๆ ด้วย) ถ้ามีข้อยังสงสัย บางทีก็พากันไปเฝ้ากราบทูลถาม หรือบางครั้งพระพุทธเจ้าก็เสด็จมาทรงสนทนากับภิกษุเหล่านั้นที่นั่น, ส่วนโกสัมพกุฎีที่ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะมีต้นโกสุมพ์อยู่ทางหน้าประตู (ต้น “โกสุมพ์” ในที่นี้แปลเลียนศัพท์ เพราะแปลกันไปต่างๆว่าต้นสะคร้อบ้าง ต้นเล็บเหยี่ยวบ้าง ต้นคำบ้าง ต้นมะกอกบ้าง แม้แต่คำที่เขียนก็เป็น โกสมฺพ บ้าง โกสุมฺพ บ้าง โกสุมฺภบ้าง ไม่เป็นที่ยุติ), หลังที่ ๔ คือ สลฬาคารเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ “สลฬ” ซึ่งแปลกันว่าไม้สน แต่ตามฎีกา, ที.ฏี.๒/๑ อธิบายว่าสร้างด้วยไม้เทพทาโร (“เทวทารุ” - ไม้“ฟืนเทวดา”)
พระคันธกุฎีที่วัดพระเชตวันนี้ บางทีเรียกว่า พระมหาคันธกุฎี ที่เรียกเช่นนี้เพราะมีความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากเป็นพระกุฎีที่ประทับยาวนานที่สุดและ
คงจะใหญ่หรือเป็นหลักเป็นฐานมากที่สุดแล้ว ก็เป็นการให้หมายรู้แยกต่างจากเรือนหลังอื่นในพระเชตวัน ที่กล่าวข้างต้นด้วย เพราะกเรริกุฎีและสลฬาคารนั้น บางทีก็เรียกเป็นพระคันธกุฎีด้วย
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานมีพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมืองกุสินาราแล้ว และพระอรหันตเถระทั้งหลายนัดหมายกันว่าจะไปประชุมสังคายนาที่เมืองราชคฤห์ โดยต่างก็เดินทางไปสู่ที่หมายเดียวกันนั้น พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ได้ไปแวะที่เมืองสาวัตถี เพื่อเก็บกวาดจัดพระคันธกุฎีที่วัดพระเชตวัน (เช่น วินย.อ.๑/๙; ที.อ.๑/๗) อันเป็นบริโภคเจดีย์ ที่ประจักษ์เด่นชัดเจนแก่พุทธบริษัททั้งปวง ให้เป็นพุทธคุณานุสรณสถาน อันสถิตดังครั้งเมื่อพระบรมศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่ เสร็จแล้วจึงเดินทางสู่เมืองราชคฤห์ต่อไป
ดังที่กล่าวแล้วว่า คัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ได้พรรณนาพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าในอดีตอย่างอลังการ แม้ว่าจะมิได้บรรยายเรื่องพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันมากอย่างนั้น
แต่บางครั้งก็กล่าวถึงพระคันธกุฎีในวัดใหญ่อย่างที่พระเชตวันนี้ โดยมีคำประกอบเช่นว่า “อันแม้นเทพวิมาน”
อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกทรงบำเพ็ญพุทธกิจไปทั่ว จึงประทับในที่ต่างๆ ทั้งบ้านนอกและในเมือง ทั้งในถิ่นชุมชนและในไพรสณฑ์ป่าเขา ตลอดจนถิ่นกันดาร บางแห่งประทับยาวนานถึงจำพรรษา บางแห่งประทับชั่วเสร็จพุทธกิจเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ เมื่ออรรถกถาเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าว่าพระคันธกุฎี ในที่สุด ก็กลายเป็นว่ามีพระคันธกุฎีมากมาย ทั้งที่เด่นชัดและที่ไม่ชัดเจน เท่าที่พบ นอกจากพระคันธกุฎีหลักที่พระเชตวันแล้ว คัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา กล่าวถึงพระคันธกุฎี ในที่อื่นๆ พอจะนับครั้งได้ (จำนวนครั้งต่อไปนี้ไม่ถือเป็นเด็ดขาด เพราะว่า ในกรณีที่ต่างคัมภีร์กล่าวทั้งเรื่องและข้อความซ้ำตรงกัน อาจจะไม่นับเสียบ้าง) คือ ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ (พบ ๑๐ ครั้ง) ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี (๗ ครั้ง) ที่บุพพาราม เมืองสาวัตถี (๓ ครั้ง) ที่นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ (๓ ครั้ง) ที่เมทฬุปนิคม แคว้นศากยะ (๓ ครั้ง) ที่ปาวาริกัมพวัน เมืองนาลันทา (๓ ครั้ง) ที่ชีวกัมพวัน เมืองราชคฤห์ (๒ ครั้ง) ที่เอกนาฬา หมู่บ้านพราหมณ์ในทักขิณาคีรีชนบท บนเส้นทางจาก ราชคฤห์สู่สาวัตถี (๒ ครั้ง) ที่ตำบลอุรุเวลา บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อแรกตรัสรู้ (๑ ครั้ง) ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ (๑ ครั้ง) ที่ภูเขาอิสิคิลิ เมืองราชคฤห์ (๑ ครั้ง) ที่ตโปทาราม เมืองราชคฤห์ (๑ ครั้ง) ที่ภูเขาใกล้หมู่บ้านอันธกวินท์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ ๓ คาวุต (๑ ครั้ง) ที่จัมปานคร แคว้นอังคะ ซึ่งขึ้นต่อมคธ (๑ ครั้ง) ที่ไพรสณฑ์ทางทิศตะวันตกนอกเมืองเวสาลี (๑ ครั้ง) ที่คิญชกาวัสถ์ ในญาติกคาม แคว้นวัชชี (บางทีเรียกว่านาติกคาม, ๑ ครั้ง) ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี (๑ ครั้ง, ที่โกสัมพี ไม่ระบุที่อีก ๑ ครั้ง) ที่จุนทอัมพวัน เมืองปาวา (๑ ครั้ง) ที่เมืองกุสินารา (๑ ครั้ง) ที่สุภควัน ใกล้เมืองอุกัฏฐา แคว้นโกศล (๑ ครั้ง) ที่อิจฉานังคลคาม แคว้นโกศล (๑ ครั้ง), ที่กล่าวมานั้นเป็นถิ่นแดนในเขตแคว้นที่พอจะคุ้น แต่ในถิ่นแดนไกลออกไปหรือที่ไม่คุ้น ก็มีบ้าง ได้แก่ ที่เมืองอยุชฌา บนฝั่งแม่น้ำคงคา (เรียกอย่างสันสกฤต
ว่าอโยธยา, ยังกำหนดไม่ได้แน่ชัดว่าปัจจุบันคือที่ใด แต่น่าจะมิใช่อโยธยาเดียวกับที่สันนิษฐานกันว่าตรงกับเมืองสาเกต, ๑ ครั้ง) ที่กัมมาสทัมมนิคมแคว้นกุรุ (กัมมาสธัมมนิคม ก็เรียก, ๒ ครั้ง) ในป่าขทิรวัน ลึกเข้าไปบนเส้นทางสู่ขุนเขาหิมาลัย ห่างจากเมืองสาวัตถีโดยทางลัดแต่กันดารมาก ๓๐ โยชน์หรือทางดี ๖๐ โยชน์ (ท่านว่าเป็นพระคันธกุฎีที่พระขทิรวนิยเรวตะนิรมิตขึ้น, ๓ ครั้ง) และที่สุนาปรันตชนบท ถิ่นของพระปุณณะ ห่างจากสาวัตถี ๓๐๐ โยชน์ (พระคันธกุฎีแห่งนี้มีชื่อด้วยว่า “จันทนมาฬา” เพราะสร้างด้วยไม้จันทน์แดง, ๑
ครั้ง, เรียกเป็นมณฑลมาฬ ๒ ครั้ง)
น่าสังเกตว่า คัมภีร์ทั้งหลายไม่กล่าว
ถึงพระคันธกุฎีที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในที่ใดเลย (พบแต่ในหนังสือชั้นหลังมาก ซึ่งอยู่นอกสายพระไตรปิฎก แต่งเป็นภาษาบาลี ในลังกาทวีป เป็นตำนานพระนลาฏธาตุ ชื่อว่า “ธาตุวํส” เล่าเป็นเรื่องราวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จไปลังกาทวีป และหลังพุทธปรินิพพาน มีพระเถระนำพระนลาฏธาตุไปตั้งบูชาที่พระคันธกุฎีในวัดสำคัญทั้งหลายแห่งชมพูทวีป รวมทั้งที่อิสิปตนมฤคทายวันด้วย ก่อนจะนำไปประดิษฐานในลังกาทวีป แต่ “ธาตุวํส”นั้น ทั้งไม่ปรากฏนามผู้แต่งและกาลเวลาที่แต่ง เรื่องราวที่เล่าก็ไม่มีหลักฐานที่จะอ้างอิงได้) ในแง่หนึ่ง อาจจะถือว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์นั้น เป็นพรรษาแรกแห่งพุทธกิจยังไม่มีพุทธานุญาตเรือนหรืออาคารเป็นที่พักอาศัย (ต่อมาอีก ๓ เดือนหลังจากเสด็จออกจากป่าอิสิปตนะมาจนถึงเมืองราชคฤห์ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวัน จึงมีพุทธานุญาต “อาราม”
คือวัด แก่ภิกษุทั้งหลาย, วินย.4/63/71 และต่อจากนั้น ระหว่างประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ เมื่อราชคหกเศรษฐีเลื่อมใส ขอสร้างที่อยู่อาศัยถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงทรงอนุญาต “วิหาร”คือเรือนหรืออาคารที่อยู่อาศัย เป็นเสนาสนะอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างสำหรับพระภิกษุ, วินย.7/200/86 แล้วต่อจากนี้จึงมีเรื่องราวของอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่
สร้างวัดทีเดียวเต็มรูปแบบขึ้นเป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นทั้งอารามและมีวิหารพร้อมคือวัดพระเชตวัน ที่เมืองสาวัตถี, วินย.7/256/111 ตามเหตุผลนี้ ก็อาจถือว่า เมื่อประทับที่อิสิปตนะ ครั้งนั้น ยังไม่มีวิหารที่จะเรียกว่าเป็นพระคันธกุฎี แต่ในแง่นี้ก็มีข้อแย้งได้ ดังที่กล่าวแล้วว่า ในที่สุดคัมภีร์ทั้งหลายได้ใช้คำว่า “คันธกุฎี”เพียงในความหมายหลวมๆ คือ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าประทับที่ไหน ถึงแม้ในพระไตรปิฎกจะไม่กล่าวถึงวิหาร ท่านก็เรียกเป็นพระคันธกุฎีทั้งนั้น เช่น เมื่อประทับที่ตำบลอุรุเวลา ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ(“ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ”) ในพระไตรปิฎกว่าประทับที่โคนไม้อชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (ที่นี่เกิดพระสูตรที่ตรัสก่อนเสด็จจาริกไปยังอิสิปตนะ รวมทั้งที่ตรัสที่โคนต้นมุจลินท์ ๑ สูตรด้วย เป็นประมาณ ๑๕ สูตร เช่น
สํ.ส.15/419/151) อรรถกถาเล่าเรื่องตอนนี้ ก็บอกว่า “เสด็จออกจากพระคันธกุฎี”แล้วมาประทับนั่งที่นั่น (สํ.อ.1/138/162) ถ้าถือความหมายโดยนัยอย่างนี้ ก็สามารถกล่าวว่า มีพระคันธกุฎีที่ประทับในคราวโปรดเบญจวัคคีย์ที่อิสิปตนะ ใน
พรรษาแรกแห่งพุทธกิจด้วยเช่นกัน แต่บังเอิญว่าอรรถกถาไม่ได้กล่าวถึง, ยิ่งกว่านั้น หลังจากเสด็จจาริกไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ แล้ว ต่อมา พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จย้อนมาประทับที่อิสิปตนะนี้อีกบ้าง ดังที่ในพระวินัย ก็มีสิกขาบทซึ่งทรงบัญญัติที่อิสิปตนะนี้ ๓ ข้อ (วินย.5/11/19,
วินย.5/58/69, วินย.5/152/206) และในพระสูตรก็มีสูตรที่ตรัสที่นี่ ไม่นับที่ตรัสแก่เบญจวัคคีย์ อีกประมาณ ๘ สูตร (เช่น ม.อุ.14/698/449; สํ.ส.15/424/152; สํ.ม.19/1625/512; ไม่นับสูตรที่พระสาวก โดยเฉพาะพระสารีบุตรแสดง อีกหลายสูตร) นอกจากนี้ อรรถกถายังเล่าเรื่องที่นายนันทิยะ คหบดีบุตร มีศรัทธาสร้างศาลาถวาย ณ มหาวิหารที่
อิสิปตนะนี้อีกด้วย (ธ.อ.๖/๑๕๖) แสดงว่าในคราวที่เสด็จมาประทับภายหลังนี้ ได้มีวัดเป็นมหาวิหารเกิดขึ้นที่อิสิปตนะ และเมื่อมีมหาวิหาร ก็ถือได้แน่นอนตามอรรถกถานัยว่ามีพระคันธกุฎี
ปัจจุบันนี้ พระคันธกุฎีอันเป็นโบราณสถานที่รู้จักกันและพุทธศาสนิกชนนิยมไปนมัสการมี ๓ แห่ง คือ ที่ภูเขา
คิชฌกูฏ ที่สารนาถ (คือที่อิสิปตนะ) และที่พระเชตวัน อีกทั้งได้มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้น คือคำว่า “มูลคันธกุฎี” (พระคันธกุฎีเดิม) ซึ่งมักใช้เรียกพระคันธกุฎีที่สารนาถ แต่ก็พบว่ามีผู้ใช้เรียกพระคันธกุฎีอีกสองแห่งด้วย
แท้จริงนั้น คำว่า “มูลคันธกุฎี” ไม่มีในคัมภีร์ภาษาบาลีใดๆ แต่เป็นคำใหม่ซึ่งเพิ่งพบและนำมาใช้เมื่อเริ่มมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ในศตวรรษที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ มีเรื่องเป็นมาว่า หลังจากพระพุทธศาสนาสิ้นสลายไปจากชมพูทวีป เ มื่อ ป ร ะ ม า ณ พ . ศ . ๑ ๗ ๔ ๐ (มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลาย มีนาลันทามหาวิหาร เป็นต้น ถูกเผาถูกทำลายหมดสิ้นในราว ค.ศ. 1200 แต่ปีที่กำหนดได้ชัดคือ ราชวงศ์เสนะถูกกองทัพมุสลิมเตอร์กจากต่างแดนยึดเมืองหลวงได้ใน ค.ศ. 1202 คือ พ.ศ. ๑๗๔๕) หลังจากนั้น เวลาผ่านมา ๗๐๐ ปีเศษ ถึงปี ค.ศ. 1891/พ.ศ. ๒๔๓๔ ในเดือนมกราคม อนาคาริกกรรมปาละ (ชื่อเดิมว่า David Hevavitarne) ได้เดินทางจากลังกาทวีป มายังพุทธคยาในประเทศอินเดีย โดยได้ปฏิญาณว่าจะอุทิศชีวิตทั้งหมดของตน ในการกู้พุทธสถานที่พุทธคยาให้คืนกลับมาเป็นที่ซึ่งพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ได้ และเมื่อกลับไปยังลังกาในเดือนพฤษภาคม ปีนั้น (1891) ก็ได้ตั้งมหาโพธิสมาคม (Maha Bodhi Society) ขึ้นที่กรุงโคลัมโบ (เมืองหลวงของประเทศศรีลังกาเวลานั้น) เมื่อ
วันที่ ๓๑ พ.ค. เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์นี้ (ต่อมา ต้นปี 1892 ได้ย้ายสำนักงานมาตั้งที่เมืองกัลกัตตา ใน
อินเดีย จนถึงปี 1915 จึงได้จดทะเบียนเป็น Maha Bodhi Society of India และถึงบัดนี้มีสาขามากแห่ง) ระหว่างที่งานกู้พุทธคยาซึ่งมีอุปสรรคมาก ติดค้างล่าช้าอยู่ อนาคาริกธรรมปาละก็ดำเนินงานฟื้นพุทธสถานที่สารนาถ (คือที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) ไปด้วย งานสำคัญมากอย่างหนึ่ง คือการสร้างวัด“มูลคันธกุฏีวิหาร” (Mulagandhakuti Vihara)
การสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารนั้น มีเรื่องสืบเนื่องมาว่า ในการขุดค้นทางโบราณคดีที่สารนาถ ได้พบซากพุทธสถานหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยคุปตะ (ราชวงศ์คุปตะ ประมาณ ค.ศ.320–550/พ.ศ. ๘๖๓–๑๐๙๓, คงจะสร้างซ้อนทับตรงที่เดิมซึ่งผุพังไปตามกาลเวลาต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือก่อนนั้น) เพื่อเป็นอนุสรณ์ตรงที่ประทับของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงจำพรรษาที่นั่นในปีแรกของพุทธกิจอยู่ใกล้กันกับซากธรรมราชิกสถูป และ ณ ที่นั้น ได้พบแผ่นจารึกที่มีข้อความบอกชื่อด้วยว่า “มูลคันธกุฏี” อนาคาริกธรรมปาละจึงคิดสร้างวัดขึ้นที่นั่น (ได้ซื้อที่ดินในที่ใกล้เคียง มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๓ พ.ย. ๒๔๖๕ ต่อมาถูกทางการสั่งระงับ ต้องย้ายที่เลื่อนห่างออกไป แล้วสร้างจนเสร็จ ทำพิธีเปิดในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ พ.ย.๒๔๗๔) และโดยถือนิมิตจากคำในแผ่นจารึกนั้น จึงตั้งชื่อว่าวัดมูลคันธกุฏีวิหาร เป็นวัดแรกของยุคปัจจุบันที่สร้างขึ้นในเขตสังเวชนียสถาน (ส่วนที่พุทธคยางานกู้พุทธสถานยังคงดำเนินต่อมาแม้หลังจากอนาคาริกธรรมปาละได้สิ้นชีวิตไปแล้วใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เพิ่งสำเร็จขั้นตอนสำคัญในปี ๒๔๙๒ เมื่อรัฐบาลรัฐพิหารออกรัฐบัญญัติ “Buddha-Gaya Temple Act” ใน ค.ศ. 1949 ซึ่งกำหนดให้กิจการของมหาโพธิสถาน ขึ้นต่อคณะกรรมการจัดการ - “Buddha Gaya Temple Management Committee” ซึ่งประกอบด้วยกรรมการฝ่ายฮินดู และฝ่ายพุทธ ฝ่ายละเท่ากัน)
รวมความว่า ดังได้กล่าวแล้ว ถึงแม้คัมภีร์ทั้งหลายจะไม่กล่าวถึง “คันธกุฎี” ที่อิสิปตนะ แต่ก็พูดได้ว่ามีพระคันธกุฎีที่นั่น ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ หนึ่ง เรียกตามความหมายหลวมๆ ที่ว่า พระพุทธเจ้าเคยประทับค้างแรมที่ใด ก็เรียกที่นั่นว่าเป็นพระคันธกุฎี สอง หลังจากบำเพ็ญพุทธกิจระยะหนึ่งแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่อิสิปตนะอีก มีวัดใหญ่เกิดขึ้นที่นั่นและได้ตรัสพระสูตรหลายสูตรส่วนคำว่า “มูลคันธกุฎี” ถึงแม้จะไม่มีมาเดิมในคัมภีร์ แต่ก็ได้เกิดขึ้นนานแล้วเพื่อใช้เรียกพระคันธกุฎีที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนี้ ในฐานะเป็นที่ประทับจำพรรษาแรกแห่งพุทธกิจ ถือได้ว่าเป็นโบราณมติอันหนึ่ง ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญแก่พุทธสถานที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการประกาศพระศาสนา
ทั้งนี้ ถ้ากล่าวเพียงตามความหมายของศัพท์ อาจถือที่ประทับหลายแห่งเป็นมูลคันธกุฎีได้โดยนัยต่างๆ คือ พระคันธกุฎีซึ่งอรรถกถากล่าวถึงที่ตำบลอุรุเวลาเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ สํ.อ.1/138/162) เป็นแห่งแรกแน่นอน จึงเป็นมูลคันธกุฎี, แต่ที่อุรุเวลานั้น ประทับไม่นานและยังมิได้ออกบำเพ็ญพุทธกิจ ดังนั้น พระคันธกุฎีที่อิสิปตนะหรือสารนาถ ที่ประทับเมื่อออกประกาศพระศาสนาครั้งแรกและจำพรรษาเป็นแห่งแรก แม้คัมภีร์จะมิได้กล่าวเรียกไว้ ก็เป็นมูลนธกุฎี, แต่ถ้านับต่อเมื่อมีการสร้างเสนาสนะถวายได้ตามพระวินัย ก็ต้องถือว่าวิหารตามพระพุทธานุญาตที่เมืองราชคฤห์ (วินย.7/200/86) เป็นมูลคันธกุฎี, แต่ถ้าถือตามหลักฐานที่ชัดเจนหลังจากมีพุทธานุญาตที่เมืองราชคฤห์นั้นแล้ว มีการจัดเตรียมการและก่อสร้างอย่างเป็นงานเป็นการโดยมีเรื่องราวเล่าไว้แม้แต่ในพระไตรปิฎก (วินย.7/256/111 ก็ต้องถือเอาพระพุทธวิหารที่วัดพระเชตวัน เป็นมูลคันธกุฎี