คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ฉันมื้อเดียว

ข้อความภาษาไทยนี้ ในแง่ธรรมวินัย ยังมีความหมายกำกวม เมื่อจะทำความเข้าใจ พึงแยกเป็น ๒ นัย คือ ๑. ตามคำบรรยายวิถีชีวิตของพระภิกษุ เช่น ในจูฬศีล ว่า ภิกษุเป็นผู้ "ฉันมื้อเดียว" นี้คือคำแปลจากคำบาลีว่า "เอกภัตติกะ" ซึ่งแปลรักษาศัพท์ว่า "มีภัตเดียว" ตามวัฒนธรรมของชมพูทวีปสมัยนั้น ภัต หมายถึงอาหารที่จัดเป็นมื้อตามช่วงเวลาของวัน ซึ่งมีมื้อหลัก ๒ มื้อ คือ ปาตราสภัต (มื้อเช้า) ได้แก่อาหารที่กินในช่วงเช้าถึงก่อนเที่ยงวัน และสายมาสภัต (มื้อสาย, สายในภาษาบาลี คือ คำเดียวกับสายัณห์) ได้แก่อาหารที่กินในช่วงหลังเที่ยงวันถึงก่อนอรุณวันใหม่ ตามความหมายนี้ ภิกษุฉันมื้อเดียว (มีภัตเดียว) จึงหมายถึง ฉันอาหารมื้อก่อนเที่ยงวันที่ว่ามานี้ ตรงกับข้อความบาลีที่นำมาให้ครบว่า (เช่น ที.สี.9/103/84) "เอกภตฺติโก โหติ รตฺตูปรโต วิรโต วิกาลโภชนา" (แปลว่า: เป็นผู้ฉันมื้อเดียว/มีภัตเดียว งดอาหารค่ำคืน เว้นจากโภชนะนอกเวลา) นี่คือ เมื่อบอกว่าฉันมื้อเดียวแล้ว ก็อาจถามว่ามื้อไหน จึงพูดกันช่วงเวลาใหญ่คือกลางคืนที่ตรงข้ามกับกลางวันออกไปก่อน แล้วก็กำกับท้ายว่า ถึงแม้ในช่วงกลางวันนั้น ก็ไม่ฉันนอกเวลา คือไม่เลยเที่ยงวัน โดยนัยนี้ ภิกษุตามปกติจึงเป็นผู้ฉันภัตเดียวคืออาหารมื้อก่อนเที่ยงวันนี้ และอรรถกถาจึงอธิบายว่า ฉันมืิ้อเดียวนี้ ถึงจะฉัน ๑๐ ครั้ง เมื่อไม่เลยเที่ยง ก็เป็นเอกภัตติกะ (เช่น ที.อ.๑/๑๐/๗๔) ๒. ภิกษุที่ตามปกติเป็นเอกภัตติกะมื้อเดียวนี้แหละ เมื่อจะฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปอีก อาจปฏิบัติให้เคร่งครัด โดยเป็นเอกาสนิกะ แปลว่า "ผู้ฉันที่นั่งเดียว" หรือฉันที่อาสนะเดียว หมายความว่า ในวันหนึ่งๆ ก่อนเที่ยงนั้น เมื่อลงนั่งฉันจนเสร็จ ลุกจากที่นั่นแล้ว จะไม่ฉันอีกเลย นี่คือฉันมื้อเดียวในความหมายว่าฉันวันละครั้งเดียว (เป็นทั้งเอกภัตติกะ และเอกาสนิกะ) และถ้าต้องการ จะถือปฏิบัติจริงจังเป็นวัตรเลยก็ได้ เรียกว่าถือธุดงค์ข้อ "เอกาสนิกังคะ" โดยสมาทานว่า (เช่น วิสุทธิ.๑/๘๕) "นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ" (แปลว่า: ข้าพเจ้างดการฉันที่อาสนะต่างๆ ข้าพเจ้าสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้มีการฉันที่อาสนะเดียวเป็นวัตร) ผู้ที่เป็นเอกาสนิกะอย่างเคร่งที่สุด (เรียกว่าถืออย่างอุกฤษฏ์) เมื่อนั่งลงเข้าที่ ตนมีอาหารเท่าใดก็ตาม พอหย่อนมือลงที่โภชนะจะฉัน ก็ไม่รับอาหารเพิ่มเติมใดๆ อีก จนลุกจากที่ทีเดียว
ดู เอกภัตติกะ, เอสาสนิกะ; จูฬศีล, ธุดงค์