คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ชวนะ

"การแล่นไป", "การไปเร็ว", "การสว่างวาบ" , ความเร็ว, ความไว; จิต ขณะที่แล่นไปในวิถี ทำหน้าที่รับรู้เสพอารมณ์ ทางทวารทั้งหลาย (ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ) เป็นวิถีจิตในช่วงหรือขั้นตอนที่ทำกรรม (เป็นกุศลชวนะหรืออกุศลชวนะ แต่ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ ก็ไม่ทำกรรม เป็นกิริยาชวนะ) จึงถือว่าอยู่ในช่วงที่สำคัญ, โดยทั่วไปและอย่างมากที่สุด ปุถุชนในกามภูมิ มีชวนจิตเกิดขึ้น ๗ ขณะ แล้วเกิดตทารมณ์ (ตทาลัมพณะ หรือตทาลัมพนะ ก็เรียก) เป็นวิปากจิตขึ้นมา ๒ ขณะ แล้วก็เกิดเป็นภวังคจิต เรียกกันว่าตกภวังค์ เป็นอันสิ้นสุดวิถีจิต คือสิ้นสุดการรับอารมณ์ไปวิถีหนึ่ง, ที่ว่ามานี้ เป็นกรณีที่รับอารมณ์ที่มีกำลังแรงหรือเด่นชัดมาก (ถ้าเป็นอารมณ์ใหญ่มากทางปัญจทวาร คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า อติมหันตารมณ์ ถ้าเป็นอารมณ์เด่นชัดทางมโนทวาร เรียกว่า วิภูตารมณ์) แต่ถ้าอารมณ์ที่รับนั้นมีกำลังไม่มากนัก หรือไม่เด่นชัด (คือเป็นมหันตารมณ์ทางปัญจทวาร หรือเป็นอวิภูตารมณ์ทางมโนทวาร) พอชวนจิตขณะที่ ๗ ดับไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตต่อเลย (เรียกว่าตกภวังค์) ไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้นในทางปัญจทวาร ถ้าอารมณ์ที่กระทบ มีกำลังน้อย (เป็นปริตตารมณ์) หรืออ่อนกำลังอย่างยิ่ง (เป็นอติปริตตารมณ์) วิถีจิตจะเกิดขึ้นน้อยขณะ แล้วเกิดเป็นภวังคจิต (ตกภวังค์) โดยไม่มีชวนจิตเกิดขึ้นเลย, ที่ว่ามานั้น เป็นการพูดทั่วไป ยังมีข้อพิเศษหลายอย่าง เช่น ในกามภูมินี้แหละ ในกรณีที่อารมณ์อ่อนกำลัง ชวนจิตเกิดแค่ ๖ ขณะก็มี ในเวลาจะสิ้นชีวิต ชวนจิตเกิดเพียง ๕ ขณะ ในเวลาเป็นลม สลบ ง่วงจัด เมาสุรา เป็นต้น หรือกรณีมีปสาทวัตถุอ่อนกำลังยิ่งอย่างทารกในครรภ์หรือเพิ่งเกิด ชวนจิตเกิดขึ้นเพียง ๔-๕ ขณะ ส่วนในภูมิที่สูงขึ้นไป เช่น ในการบรรลุญานแต่ละขั้นครั้งแรก ในการทำกิจแห่งอภิญญา ในการสำเร็จกิจแห่งมรรค และในเวลาออกจากนิโรธสมาบัติ ชวนจิตเกิดขึ้นขณะเดียว (แต่ในเวลาเข้านิโรธสมาบัติ ชวนจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะ) สำหรับผู้ชำนาญในฌาน ชวนจิต (อัปปนาชวนะ) จะเกิดดับต่อเนื่องไปตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น อาจจะตลอดทั้งวัน ไม่มีกำหนดจำนวนขณะ (เป็นอัปปนาวิถีตลอดเวลาที่ฌานจิตยังสืบต่อติดเนื่องกันไป) จนกว่าจะเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นมา สันตติของฌานจิตก็ขาดตอน เรียกว่าตกภวังค์ คือออกจากฌาน; คำว่า "ชวนะ" นี้ ใช้หมายถึงจิตซึ่งทำหน้าที่รับอารมณ์ในวิถี ก็ได้ หมายถึงการทำหน้าที่ของจิตในการรับอารมณ์นั้น ก็ได้ ถ้าต้องการความหมายให้จำเพาะชัดลงไปก็เติมคำกำกับลงไปว่า "ชวนจิต" หรือ "ชวนกิจ" ตามลำดับ
ดู วิถีจิต