คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : คามวาสี

“ผู้อยู่บ้าน”, พระบ้าน หมายถึงพระภิกษุที่อยู่วัดในเขตหมู่บ้าน ใกล้ชุมชนชาวบ้าน หรือในเมือง, เป็นคู่กับ อรัญวาสี หรือพระป่า ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่อยู่วัดในป่า; คำทั้งสอง คือคามวาสี และอรัญวาสี นี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก (ในคัมภีร์มิลินทปัญหาประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ ก็ยังไม่มี) เพิ่งมีใช้ในอรรถกถา (ก่อน พ.ศ. ๑๐๐๐) แต่เป็นถ้อยคำสามัญ หมายถึงใครก็ได้ ตั้งแต่พระสงฆ์ ไปจนถึงสิงสาราสัตว์ (มักใช้แก่ชาวบ้านทั่วไป) ที่อยู่บ้าน อยู่ใกล้บ้าน หรืออยู่ในป่า, การแบ่งพระสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย คือ คามวาสี และอรัญวาสีเกิดขึ้นในลังกาทวีป และปรากฏชัดเจนในรัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุ ที่ ๑ มหาราช (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙) ต่อมาเมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงรับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ลังกาวงศ์ อันสืบเนื่องจากสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุนี้เข้ามาในช่วงใกล้พ.ศ. ๑๘๒๐ ระบบพระสงฆ์ ๒ แบบคือ คามวาสี และอรัญวาสี ก็มาจากศรีลังกาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย, พร้อมกับความเป็นมาอย่างนี้ พระคามวาสีก็ได้เป็นผู้หนักในคันถธุระ (ธุระในการเล่าเรียนพระคัมภีร์) และพระอรัญวาสีเป็นผู้หนักในวิปัสสนาธุระ (ธุระในการเจริญกรรมฐานอันมีวิปัสสนาเป็นยอด), เรื่องนี้ พึงทราบคำอธิบายเพิ่มที่คำว่า“อรัญวาสี”
ดู คันถธุระ

คู่กับ อรัญวาสี