ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : ตัมพปัณณิ
“(เกาะ) คนฝ่ามือแดง” เป็นชื่อหนึ่งของลังกาทวีป คือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน และคงเป็นชื่อที่เก่าแก่มาก ปรากฏในรายชื่อดินแดนต่างๆ ในคัมภีร์มหานิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฎกซึ่งมีชวาด้วย และถัดจากสุวรรณภูมิ ก็มีตัมพปัณณิ (ชวํ คจฺฉติ … สุวณฺณภูมึคจฺฉติ ตมฺพปณฺณึ คจฺฉติ, ขุ.ม./29/254/188, ขุ.ม.29/810/504) ชื่อเหล่านี้จะตรงกับดินแดนที่เข้าใจกัน หรือเป็นชื่อพ้อง หรือตั้งตามกัน ไม่อาจวินิจฉัยให้เด็ดขาดได้, เหตุที่ลังกาทวีปได้นามว่าตัมพปัณณินั้น มีเรื่องตามตำนานว่า เจ้าชายวิชัยซึ่งเป็นโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าสีหพาหุและ
พระนางสีหสีวลีในชมพูทวีป ถูกพระราชบิดาลงโทษเนรเทศ ได้เดินทางจากชมพูทวีป และมาถึงเกาะนี้ในวันพุทธปรินิพพาน ราชบริพารซึ่งเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง เมื่อขึ้นฝั่งแล้วก็ลงนั่งพัก เอามือยันพื้นดิน เมื่อยกมือขึ้นมามือก็เปื้อนแดงด้วยดินที่นั่นซึ่งมีสีแดงกลายเป็นคนมือแดง (ตมฺพ [แดง] +ปณฺณี [มีฝ่ามือ] = ตมฺพปณฺณี [มีฝ่ามือแดง]) ก็จึงเรียกถิ่นนั้นว่า ตัมพปัณณิแล้ว ณ ถิ่นนั้น เจ้าชายวิชัยได้รับความช่วยเหลือจากยักษิณีที่รักพระองค์ รบชนะพวกยักษ์แห่งเมืองลังกาปุระ จึงได้ตั้งเมืองตัมพปัณณินครขึ้น เป็นปฐมกษัตริย์ต้นวงศ์ของชาวสีหล หรือสิงหฬจากนั้น ชื่อตัมพปัณณิก็ขยายออกไปกลายเป็นชื่อของทั้งเกาะหรือทั้งประเทศ,
ตามเรื่องที่เล่ามา จะเห็นชื่อที่ใช้เรียกดินแดนนี้ครบ ทั้งลังกา ตัมพปัณณิ และสีหลหรือสิงหฬ, ตามพปัณณิ ก็เรียก(จะเติม ‘ทวีป’ เป็นตัมพปัณณิทวีปหรือตามพปัณณิทวีป ก็ได้)