ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : อารักขกัมมัฏฐาน
กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาตน, กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาผู้ปฏิบัติให้สงบระงับและให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ท่านจัดเป็นชุดขึ้นภายหลัง ดังมีกล่าวถึงในอรรถกถา (วินย.อ.๓/๓๗๔) และฎีกาพระวินัย (วินย.ฏี.๒/๖๗/๑๗๙) มี ๔ ข้อ เรียกว่า จตุรารักขา (เรียกให้สั้นว่า จตุรารักข์ หรือจตุรารักษ์) คือ พุทธานุสติ เมตตา อสุภะ และมรณสติ, ต่อมาในลังกาทวีป พระธรรมสิริเถระ ได้เขียนอธิบายไว้ในคัมภีร์ขุททสิกขา และในพม่าที่เมืองร่างกุ้ง ได้มีพระเถระชื่ออัครธรรม ถึงกับแต่งคัมภีร์ขึ้นอธิบายเรื่องนี้โดยเฉพาะ เรียกว่า จตุรารักขทีปนี; ในหนังสือ นวโกวาท มีคำอธิบายซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “อารักขกัมมัฏฐาน ๔ ๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าที่มีในพระองค์ และทรงเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า ๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม ๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน. กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ควรเจริญเป็นนิตย์”