คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : นันทมารดา

อุบาสิกาสำคัญ มีชื่อซ้ำกัน ๒ ท่าน แยกโดยเรียกชื่อนำที่ต่างกัน คือ 1. เวฬุกัณฏกีนันทมารดา (นันทมารดา ชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ [เมืองหนามไผ่] ในแคว้นอวันตี) ได้ฌาน ๔ เป็นอนาคามีและเป็นอัครอุบาสิกา คู่กับนางขุชชุตรา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น “ตุลา” คือเป็นตราชู หรือเป็นแบบอย่างสำหรับสาวิกาทั้งหลายที่เป็นอุบาสิกา คู่กับนางขุชชุตรานั้น (เช่น อง.จตุกฺก.21/176/222) ครั้งหนึ่ง ที่วัดพระเชตวัน เวฬุกัณฏกีนันทมารดา ถวายทานแด่พระสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นประมุข พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อุบาสิกาท่านนั้นประดิษฐานทักขิณาที่พร้อมด้วยองค์ ๖ คือ ทายกมีองค์ ๓ ได้แก่ ก่อนให้ ก็ดีใจ กำลังให้อยู่ ก็ทำจิตให้ผุดผ่องเลื่อมใส ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นชมปลื้มใจ และปฏิคาหกมีองค์ ๓ ได้แก่ เป็นผู้ปราศจากราคะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศโมหะ ทักขิณานั้นเป็นบุญยิ่งใหญ่ มีผลมากยากจะประมาณได้ (อง.ฉกฺก.22/308/375) 2. อุตตรานันทมารดา เป็นธิดาของนายปุณณะ หรือปุณณสีหะ แห่งเมืองราชคฤห์ ซึ่งต่อมาพระราชาได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นธนเศรษฐี เมื่อท่านเศรษฐีใหม่จัดงานมงคลฉลองและถวายทาน อุตตราได้สดับพระดำรัสอนุโมทนาของพระพุทธเจ้า ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลในคราวเดียวกับบิดาและมารดา อุตตรานั้นรักษาอุโบสถเป็นประจำ เดือนละ ๘ วัน ต่อมา เมื่อแต่งงานไปอยู่กับสามี ก็ขอโอกาสรักษาอุโบสถบ้าง แต่สามีไม่ยอมรับ นางจึงไม่มีโอกาสทำการบุญอย่างที่เคยปฏิบัติ จนกระทั่งคราวหนึ่ง อุตตราตกลงว่าจะถืออุโบสถครึ่งเดือน และใช้เวลาในการให้ทานและฟังธรรมให้เต็มที่ โดยใช้วิธีจ้างโสเภณีชื่อสิริมาให้มาอยู่กับสามีแทนตัวตลอดเวลา ๑๕ วันนั้น เมื่อครบครึ่งเดือน ในวันที่เตรียมจะออกจากอุโบสถ ได้ยุ่งอยู่ในโรงครัวจัดเตรียมอาหาร ตอนนั้น สามีมองลงมาทางหน้าต่าง เห็นอุตตราในสภาพมอมแมมขมีขมัน ก็นึกในใจว่านางนั้นอยู่ครอบครองสมบัติอยู่แสนสบาย กลับทิ้งความสุขมาทำงานกับพวกคนรับใช้จนตัวเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่มีเหตุไม่มีผล แล้วก็ยิ้มอย่างสมเพช ฝ่ายอุตตราพอดีมองขึ้นไป เห็นอย่างนั้น ก็รู้ทัน และนึกในใจว่าสามีเป็นพาลชน มัวจมอยู่ในความประมาท หลงไปว่าสมบัติจะยั่งยืนอยู่ตลอดไป นึกแล้วก็ยิ้มบ้าง ฝ่ายนางสิริมาอยู่มาหลายวันชักจะลืมตัว พอเห็นสามีกับภรรยายิ้มกัน ก็เกิดความหึงขึ้นมาแล้ววิ่งลงจากชั้นบน ผ่านเข้าครัว ฉวยกระบวย ตักน้ำมันที่เขากำลังปรุงอาหารแล้วปรี่เข้ามาเทน้ำมันราดลงบนศีรษะของอุตตรา ฝ่ายอุตตรามีสติดี รู้ตัวว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็เข้าเมตตาฌานยืนรับน้ำมันที่ร้อนก็ไม่เป็นอันตรายแก่เธอ ขณะนั้นพวกคนรับใช้ของอุตตราซึ่งได้เห็นเหตุการณ์ ก็เข้ามาพากันรุมบริภาษทุบตีนางสิริมา กว่านางอุตตราจะห้ามสำเร็จ นางสิริมาก็บอบช้ำมาก ทำให้นางสิริมาสำนึกได้ถึงฐานะที่แท้จริงของตนที่เป็นคนข้างนอกรับจ้างเจ้าของบ้านมาจึงเข้าไปขอขมาต่ออุตตรา แต่อุตตราบอกว่าตนจะให้อภัยได้ต่อเมื่อบิดาทางธรรมคือพระพุทธเจ้าให้อภัยแล้ว ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่บ้านของอุตตรา นางสิริมาเข้าไปกราบทูลขอขมาแล้ว อุตตราก็ให้อภัยแก่นาง และในวันนั้น นางสิริมาฟังพระธรรมกถาแล้ว ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล (เรื่องนี้ อรรถกถาต่างคัมภีร์ เช่น อง.อ.๑/๕๖๒/๓๙๐; ธ.อ.๖/๑๗๑; วิมาน.อ.๑๒๓/๗๒ เล่ารายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง โดยเฉพาะอรรถกถาแห่งวิมานวัตถุ นอกจากว่านางสิริมาได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ยังบอกว่าอุตตราได้เป็นสกทาคามินี และสามีพร้อมทั้งบิดาและมารดาของสามีได้เป็นโสดาบัน) ต่อมา ในที่ประชุม ณ วัดพระเชตวัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกย่องนางอุตตรานันทมารดา เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาผู้มีฌาน หรือนักบำเพ็ญฌาน (ฌายี)

แม้ว่าโดยหลักฐานต่างๆ เช่น เมืองที่อยู่ เวฬุกัณฏกีนันทมารดา กับ อุตตรานันทมารดา น่าจะเป็นต่างบุคคลกัน แต่ก็ยังมีช่องให้สงสัยว่าอาจจะเป็นบุคคลเดียวกันได้ อย่างน้อยพระสาวกและพระสาวิกา ที่ได้รับยกย่องเป็นคู่ตุลา หรือคู่อัครสาวก คู่อัครสาวิกา และคู่อัครอุบาสก ก็ล้วนเป็นเอตทัคคะมาตลอด ๓ คู่แรก แต่พอถึงคู่ตุลาฝ่ายอุบาสิกา หรือคู่อัครอุบาสิกา กลายเป็นนางขุชชุตราที่เป็นเอตทัคคะด้วย กับเวฬุกัณฏกีนันทมารดา ที่มิได้เป็นเอตทัคคะ (ส่วนอุตตรานันทมารดา เป็นเอตทัคคะ แต่ไม่ได้เป็นตุลา หรืออัครอุบาสิกา) ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า เรื่องราวของนันทมารดาทั้งสองนาม ซึ่งกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ขาดข้อมูลที่จะเป็นจุดประสานให้เกิดความชัดเจน, นอกจากนั้น เมื่ออ่านข้อความในคัมภีร์พุทธวงส์ ที่กล่าวถึงคู่อัครอุบาสิกาว่า “นนฺทมาตา จ อุตฺตรา อคฺคา เหสฺสนฺตุปฏฺฐิกา” (ฉบับอักษรพม่า มีแห่งหนึ่งว่า “อุตฺตรา นนฺทมาตา จ อคฺคา เหสฺสนฺตุปฏฺฐิกา” เลยทีเดียว) บางท่านก็อาจจะยิ่งงง อาจจะเข้าใจไปว่า พระบาลีในที่นี้หมายถึงนางอุตตรานันทมารดา แต่ที่จริงไม่ใช่ เพราะในที่นี้ท่านกล่าวถึงสองบุคคล คือ อุตตราเป็นบุคคลหนึ่ง ได้แก่ ขุชชุตรา และนันทมารดาเป็นอีกคนหนึ่ง ได้แก่เวฬุกัณฏกีนันทมารดา (ในคัมภีร์อปทานแห่งหนึ่ง, ขุ.อป.33/79/117 กล่าวถึงข้อความอย่างเดียวกัน แต่ระบุไว้ชัดกว่านี้ว่า “ขุชฺชุตฺตรา นนฺทมาตา อคฺคา เหสฺสนฺตุปาสิกา”)
ดู อุตตรา, เอตทัคคะ