คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ธรรมสภา

ที่ประชุมฟังธรรม, โรงธรรม; แต่เดิม ในพระไตรปิฎก “ธรรมสภา” เป็นคำที่ใช้น้อย (พบในเรื่องอดีตก่อนพุทธกาลครั้งหนึ่ง คือ ในวิธุรชาดก, ขุ.ชา.28/1040/362, เป็นอาคารหลวงในเมืองอินทปัตถ์ หรืออินทปัตต์ ในกุรุรัฐ, และอีกครั้งหนึ่ง เป็นคาถาประพันธ์ของพระอุบาลีมหาสาวก, ขุ.อป.32/8/63, กล่าวเป็นความอุปมาว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระธรรมราชา ได้ทรงสร้างธรรมนครขึ้น ในธรรมนครนี้ มีพระสุตตันตะพระอภิธรรม พระวินัย และพุทธพจน์มีองค์ ๙ ทั้งสิ้น เป็นธรรมสภา), ต่อมาในชั้นอรรถกถา “ธรรมสภา” ได้กลายเป็นคำสามัญอันใช้เรียกที่ประชุมฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เช่นในวัดพระเชตวัน เช่นเดียวกับคำว่า“คันธกุฎี” ที่อรรถกถาใช้เรียกพระวิหาร ที่ประทับของพระพุทธเจ้า ดังข้อความในอรรถกถา (เช่น องฺ.อ.๑/๑๐๑/๗๔) ว่า“พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี มาประทับนั่งเหนือพระบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในธรรมสภา”, อาคารที่อรรถกถาเรียกว่าธรรมสภานี้มักได้แก่อาคารที่ในพระไตรปิฎกเรียกว่า “อุปัฏฐานศาลา” (ศาลาที่ภิกษุทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อฟังพระพุทธโอวาทและสดับพระธรรมเทศนา) ดังที่ท่านไขความว่า “คำว่า ‘ในอุปัฏฐานศาลา’ หมายความว่า ‘ในธรรมสภา’” (อุปฏฺฐาน-สาลายนฺติ ธมฺมสภายํ, วินย.ฏี.๒/๑๓๔/๒๗๗);
ดู คันธกุฎี, อุปัฏฐานศาลา