คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ธัญชาติ

ข้าวชนิดต่างๆ, พืชจำพวกข้าว; ธัญชาติ ๗ คือ สาลิ (ข้าวสาลี), วีหิ (ข้าวเจ้า), ยวะ (ข้าวเหนียว), โคธุมะ (โคธูมะ ก็ว่า; ข้าวละมาน), กังคุ (ข้าวฟ่าง), วรกะ (ลูกเดือย), กุทรูสะ (หญ้ากับแก้); คำว่า “ธัญชาติดิบสด” (อามกธัญญะ) หมายถึง ธัญชาติ ๗ นี้เอง ที่ยังไม่ได้ขัดสีหรือกะเทาะเปลือกออก (ยังไม่เป็น ตัณฑุละ) และยังไม่ได้ทำให้สุก (ยังไม่เป็น โอทนะ) เช่น วีหิ คือข้าวเปลือกของข้าวเจ้า

อนึ่ง พืชที่เป็นของกิน คือเป็นอาหารที่รับประทาน (อันนะ) นั้น แบ่งเป็น ๒ พวก ได้แก่ บุพพัณณะ (แปลสืบกันมาว่า “ของที่จะพึงกินก่อน” แต่ตามคำอธิบายในคัมภีร์หลายแห่ง น่าจะแปลว่า “ของกินที่มีเป็นหลักขึ้นก่อน”) ได้แก่ ธัญชาติ ๗ นี้ (รวมทั้งพืชที่อนุโลมหรือเข้าพวกนี้) และ อปรัณณะ (แปลสืบกันมาว่า “ของที่จะพึงกินในภายหลัง” แต่ตามคำอธิบายในคัมภีร์หลายแห่ง น่าจะแปลว่า “ของกินที่มีเพิ่มมาอีกทีหลัง” ทำนองของกินประกอบ) ได้แก่พืชจำพวกถั่วงาและผักที่ทำเป็นกับแกง เช่นที่ท่านยกตัวอย่างบ่อย คือ มุคคะ (ถั่วเขียว) มาส (ถั่วราชมาส) ติละ (งา) กุลัตถ์ (ถั่วพู) อลาพุ (น้ำเต้า) กุมภัณฑ์ (ฟักเขียว); ทั้งนี้ มีคติโบราณเชื่อว่า ครั้งต้นกัป เมื่อสิ่งทั้งหลายแรกเกิดมีขึ้นนั้น บุพพัณณะเกิดมีก่อน อปรัณณะเกิดทีหลัง