คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : อาบัติ

การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น ๑. ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส) ๒. ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ); คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ ๑. ทุฏฐุลลาบัติ อาบัติชั่วหยาบ ๒. อทุฏฐุลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ; ๑. อเทสนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒. เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน; คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ ๑. อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒. สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ); ๑. อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒. สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ; ๑. อัปปฏิกัมม์ หรือ อปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้ คือแก้ไขไม่ได้ ๒. สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้

อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติ มี ๖ อย่าง คือ อลชฺชิตา ต้องด้วยไม่ละอาย ๑ อญฺญาณตา ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ ๑ กุกฺกุจฺจปกตตา ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง ๑ อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ๑ กปฺปิเย อกปฺปิยสญฺญิตา ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๑ สติสมฺโมสา ต้องด้วยลืมสติ ๑