คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : วิกัป, วิกัปป์

ทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตรหรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด

วิกัปมี ๒ คือ วิกัปต่อหน้า และวิกัปลับหลัง

วิกัปต่อหน้า คือ วิกัปต่อหน้าผู้รับ ถ้าจีวรผืนเดียว อยู่ในหัตถบาส ว่า "อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ" แปลว่า "ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน" (ถ้าวิกัปจีวร ๒ ผืนขึ้นไป ว่า "อิมานิ จีวรานิ" แทน "อิมํ จีวรํ", ถ้าวีจรที่วิกัปอยู่นอกหัตถบาส ว่า "เอตํ" แทน "อิมํ" ว่า "เอตานิ" แทน "อิมานิ", ถ้าวิกัปแก่ภิกษุผู้แก่กว่า จะใช้บทว่า "อายสฺมโต" แทน "ตุยฺหํ" ก็ควร)

วิกัปลับหลัง คือ วิกัปให้แก่สหธรรมิกรูปใดรูปหนึ่ง ผู้มิได้อยู่เฉพาะหน้า โดยเปล่งวาจาต่อหน้าสหธรรมิกรูปอื่น ถ้าจีวรผืนเดียว อยู่ในหัตถบาส ว่า "อิมํ จีวรํ อิตฺถนฺนามสฺส วิกปฺเปมิ" แปลว่า "ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้ แก่ท่านผู้ชื่อนี้" (ถ้าวิกัปแก่ภิกษุชื่อว่าอุตตระ ก็บอกชื่อว่า "อุตฺตรสฺส ภิกฺขุโน" หรือ "อายสฺมโต อุตฺตรสฺส" แทน "อิตฺถนฺนามสฺส" สุดแต่ผู้รับอ่อนกว่าหรือแก่กว่า, ถ้าวิกัปจีวรหลายผืน หรือจีวรอยู่นอกหัตถบาส พึงเปลี่ยนคำ โดยเทียบตามแบบวิกัปต่อหน้า)

จีวรที่ีวิกัปไว้ จะบริโภค ต้องขอให้ผู้รับถอนก่อน มิฉะนั้น หากบริโภค จะต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อผู้ที่ได้รับไว้นั้นถอนแล้ว จึงใช้ได้, คำถอนสำหรับจีวรที่อยู่ในหัตถบาส ว่า "อิมํ จีวรํ มยฺหํ สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วากโรหิ" แปลว่า "จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ท่านจงใช้สอยก็ตาม จงสละก็ตาม จงทำตามปัจจัยก็ตาม" (ถ้าผู้ถอนอ่อนกว่า พึงว่า "อิมํ จีวรํ มยฺหํ สนฺตกํ ปริภุญฺชถวา วิสชฺเชถ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรถ", คำที่พึงเปลี่ยนทั้งหลาย เช่น ชื่อของ จำนวนของ และที่ของตั้งอยู่ในหรือนอกหัตถบาส พึงเทียบเคียงกับคำที่กล่าวแล้วข้างต้น)

ในเรื่องเกี่ยวกับการวิกัปนี้ มีแนวทางปฏิบัติที่พระอาจารย์นักวินัยแนะนำไว้ และพระมติในหนังสือวินัยมุข อันควรทราบว่า ผ้าที่จะอธิษฐานเป็นผ้าปูนอนก็ดี เป็นผ้าบริขารโจลก็ดี ต้องเป็นของที่ไม่ใช้นุ่งห่ม จึงอธิษฐานขึ้น เช่น ภิกษุถอนผ้าอุตตราสงส์ผืนเก่าเสีย ไม่คิดจะใช้นุ่งห่มอีก และอธิษฐานผืนใหม่แล้ว จะอธิษฐานผืนเก่านั้นเป็นผ้าปูนอนเช่นนี้ได้ แต่ถ้ายังจะใช้นุ่งห่ม ควรวิกัปไว้ตามแผน ส่วนผ้าบริขารโจลนั้น ก็เช่นผ้ากรองน้ำ ถุงบาตร และย่าม อันมิใช้ของใช้นุ่งห่ม และไม่ใช่เป็นของใหญ่ ตลอดจนผ้าบริขารอย่างอื่น ซึ่งมีสีและดอกอันห้ามในผ้านุ่งห่ม อย่างนี้ อธิษฐานขึ้น ส่วนผ้าที่จะใช้นุ่งห่ม แม้เพียงผืนเล็กพอใช้เป็นเครื่องประกอบเข้าเป็นผ้านุ่งห่มได้ แม้แต่ผ้าขาว มีประมาณตั้งแต่ยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้วขึ้นไป จัดว่าเป็นจีวรตามกำหนดอย่างต่ำที่จะต้องวิกัป

อนึ่ง ผ้าอาบน้ำฝน เป็นของที่ทรงอนุญาตเป็นบริขารพิเศษชั่วคราวของภิกษุ อธิษฐานไว้ใช้ได้ตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน พ้นนั้นให้วิกัปไว้

ทั้งนี้ มีพุทธานุญาตไว้คราวหนึ่ง (วินย.5/160/218) ซึ่งใช้เป็นที่อ้างอิงในเรื่องที่ว่าผ้าอย่างไหนจะต้องอธิษฐาน หรือต้องวิกัป อย่างไร ใจความว่า ไตรจีวร ผ้าปูนั่ง (นิสีทนะ) ผ้าปูนอน (ปัจจัตถรณะ) ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก (มุขปุญฉนโจละ) และผ้าบริขารโจล ให้อธิษฐาน ไม่ใช่ให้วิกัป, ผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฎก) ให้อธิษฐานใช้ตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน พ้นจากนั้น ให้วิกัปไว้, ผ้าปิดฝี (กัณฑุปฏิจฉาทิ) ให้อธิษฐานใช้ตลอดเวลาที่อาพาธ พ้นจากนั้นให้วิกัปไว้; ผ้าจีวรขนาดอย่างต่ำยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วพระสุคต ต้องวิกัป

ส่วนในการวิกัปบาตร ถ้าบาตรใบเดียว อยู่ในหัตถบาส ว่า "อิมํ ปตฺตํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ" ถ้าบาตรหลายใบ ว่า "อิเม ปตฺเต" แทน "อิมํ ปติตํ"; ถ้าบาตรอยู่นอกหัตถบาส ว่า "เอตํ" แทน "อิมํ" บาตรหลายใบ ว่า "เอเต" แทน "อิเม"), บาตรที่วิกัปไว้แล้ว ไม่มีกำหนดให้ถอนก่อนจึงบริโภค พึงใช้เป็นของวิกัป แต่เมื่อจะอธิษฐาน พึงให้ถอนก่อน;
ดู อธิษฐาน, ปัจจุทธรณ์