ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : บูชา
นำดอกไม้ ของหอม อาหาร ทรัพย์สินเงินทอง หรือของมีค่า มามอบให้เพื่อแสดงความซาบซึ้งพระคุณ มองเห็นความดีงาม เคารพนับถือ ชื่นชม เชิดชู หรือนำมาประกอบกิริยาอาการในการแสดงความยอมรับนับถือ ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงความเคารพนับถือเช่นนั้น, แสดงความเคารพเทิดทูน, เชิดชูคุณความดี, ยกย่องให้ปรากฏความสำคัญ; บูชา มี ๒ (องฺ.ทุก.20/401/117) คือ อามิสบูชา (บูชาด้วยอามิส คือด้วยวัตถุสิ่งของ) และ ธรรมบูชา (บูชาด้วยธรรม คือด้วยการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมไว้), ในอรรถกถาแห่งมงคลสูตร (ขุทฺทก.อ.๑๑๓; สุตฺต.อ.๒/๘๓) ท่านกล่าวถึงบูชา ๒ อย่าง เป็น อามิสบูชา และ ปฏิบัติบูชา (บูชาด้วยการปฏิบัติ คือ บูชาพระพุทธเจ้าด้วยสรณคมน์ การรับสิกขาบทมารักษาเพื่อให้เป็นผู้มีศีล การถืออุโบสถ และคุณความดีต่างๆ ของตน มีปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น ตลอดจนการเคารพดูแลมารดาบิดา และบูชาปูชนียบุคคลทั้งหลาย) โดยเฉพาะปฏิบัติบูชานั้น ท่านอ้างพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร (ที.ม.10/129/160) ที่ตรัสว่า “ดูกรอานนท์ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง” กล่าวย่อ ปฏิบัติบูชา ได้แก่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ