คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ปกาสนียกรรม

กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ที่พึงถูกประกาศ (แปลว่า กรรมอันเป็นเครื่องประกาศ ก็ได้) หมายถึง การที่สงฆ์มีมติและทำการประกาศให้เป็นที่รู้กันทั่วไป ถึงสถานภาพในเวลานั้นของภิกษุรูปนั้นในสงฆ์ เช่น ความไม่เป็นที่ยอมรับ หรือการที่สงฆ์ไม่ยอมรับ และไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของภิกษุรูปนั้น, เป็นกรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกให้เป็นวิธีปฏิบัติต่อพระเทวทัต และสงฆ์ก็ได้กระทำต่อพระเทวทัตในเมืองราชคฤห์ ตามเรื่องว่า เมื่อพระเทวทัตแสดงฤทธิ์แก่เจ้าชายอชาตศัตรู ทำให้ราชกุมารนั้นเลื่อมใสแล้ว ก็ได้ชื่อเสียง มีลาภสักการะเป็นอันมาก ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งทรงแสดงธรรมอยู่ ในที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีพระราชาประทับอยู่ด้วย พระเทวทัตได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงพระชราเป็นผู้เฒ่า แก่หง่อมแล้ว ขอให้ทรงพักผ่อน โดยมอบภิกษุสงฆ์ให้พระเทวทัตบริหารต่อไป แต่พระพุทธเจ้าทรงห้ามว่า “อย่าเลย เทวทัต เธออย่าพอใจที่จะบริหารภิกษุสงฆ์เลย” แม้กระนั้น พระเทวทัตก็ยังกราบทูลอย่างเดิมอีกจนถึงครั้งที่ ๓ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แม้แต่ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระองค์ก็ยังไม่ทรงปล่อยมอบภิกษุสงฆ์ให้ แล้วจะทรงปล่อยมอบภิกษุสงฆ์นั้นให้แก่พระเทวทัต ผู้กินเขฬะ (คือบริโภคปัจจัยซึ่งเกิดจากอาชีวะที่ไม่บริสุทธิ์ อันอริยชนจะพึงคายทิ้ง) ได้อย่างไร พระเทวทัตโกรธว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้ตนเสียหน้าในที่ประชุม แล้วยังยกย่องพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเสียอีกด้วย ก็ผูกอาฆาต และทูลลาไป ถึงตอนนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสบอกวิธีที่สงฆ์จะปฏิบัติต่อพระเทวทัตด้วยการทำปกาสนียกรรม และให้สงฆ์สมมติ คือ ตั้งให้พระสารีบุตรเป็นผู้ไปกล่าวประกาศ (พระสารีบุตรเป็นผู้ที่ได้ยกย่องสรรเสริญพระเทวทัตไว้ในเมืองราชคฤห์นั้น) คำประกาศมีว่าดังนี้ (วินย.7/362/173) “ปกติของพระเทวทัตแต่ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำการใด ด้วยกาย วาจา ไม่พึงมองเห็นพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ด้วยการนั้น พึงเห็นเป็นการเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง”

ทางด้านพระเทวทัต ต่อมา ก็ได้ไปแนะนำเจ้าชายอชาตศัตรูให้ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้วขึ้นครองราชย์โดยตนเองก็จะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าแล้วเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง มาประสานบรรจบกัน เจ้าชายอชาตศัตรูได้เหน็บกริชแนบพระเพลาเข้าไปเพื่อทำการตามแผน แต่มีพิรุธ ถูกจับได้ เมื่อถูกสอบสวนและสารภาพว่าทรงทำตามคำยุยงของพระเทวทัต มหาอำมาตย์พวกหนึ่งมีมติว่า ควรประหารชีวิตราชกุมาร และฆ่าพระเทวทัตกับทั้งประดาพระภิกษุเสียให้หมดสิ้น มหาอำมาตย์พวกหนึ่งมีมติว่า ไม่ควรฆ่าภิกษุทั้งหลาย เพราะพวกภิกษุไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่ควรประหารชีวิตราชกุมารและฆ่าพระเทวทัตเสีย ส่วนมหาอำมาตย์อีกพวกหนึ่งมีมติว่า ไม่ควรประหารราชกุมาร ไม่ควรฆ่าพระเทวทัตและไม่ควรสังหารภิกษุทั้งหลาย แต่ควรกราบทูลพระราชา แล้วพระองค์รับสั่งอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น จากนั้น พวกมหาอำมาตย์ก็คุมตัวอชาตศัตรูกุมารเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระราชาทรงถามมติของพวกมหาอำมาตย์ ทรงตำหนิพวกที่ให้ฆ่าภิกษุทั้งปวงเสียให้หมด โดยทรงท้วงว่า พระพุทธเจ้าได้ให้ประกาศไปแล้วมิใช่หรือว่าสงฆ์มิได้ยอมรับการกระทำของพระเทวทัต การกระทำนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของพระเทวทัตเอง จากนั้น เมื่อทรงซักถามราชกุมาร ได้ความว่าจะปลงพระชนม์พระองค์เพราะต้องการราชสมบัติ ก็ได้ทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้าชายอชาตศัตรู เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูครองราชย์แล้ว พระเทวทัตก็ได้กำลังจากฝ่ายบ้านเมืองมาดำเนินการพยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ทั้งจัดพรานธนูไปดักสังหาร ทั้งกลิ้งก้อนศิลาลงมาจากเขาคิชฌกูฏจะให้ทับ และปล่อยช้างดุนาฬาคีรีให้เข้ามาทำร้ายบนทางเสด็จ แต่ไม่สำเร็จ จนในครั้งสุดท้าย มหาชนรู้เรื่องกันมากขึ้น ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อพระราชาว่าเป็นผู้ส่งเสริม เป็นเหตุให้พระเจ้าอชาตศัตรูต้องทรงถอนพระองค์จากพระเทวทัต ทำให้พระเทวทัตเสื่อมจากลาภสักการะก่อนถึงกาลจบสิ้นในที่สุด

ปกาสนียกรรมนี้ เป็นสังฆกรรมหนึ่งใน ๘ อย่าง ที่เป็น อสัมมุขากรณีย์ คือ กรรมซึ่งไม่ต้องทำในที่ต่อหน้า หรือพร้อมหน้าบุคคลที่ถูกสงฆ์ทำกรรม ได้แก่ ๑. ทูเตนุปสัมปทา (การอุปสมบทโดยใช้ทูต คือ ภิกษุณีใหม่ที่อุปสมบทในภิกษุณีสงฆ์เสร็จแล้ว จะไปรับการอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์เพื่อให้ครบการอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย แต่ถ้ามีข้อติดขัดเกรงว่าการเดินทางจะไม่ปลอดภัย ก็ให้ภิกษุณีอื่นเป็นทูต คือเป็นตัวแทนแจ้งการขอรับอุปสมบทของตนต่อที่ประชุมภิกษุสงฆ์ โดยตนเองไม่ต้องไปก็ได้) ๒.ปัตตนิกกุชชนา (การคว่ำบาตรอุบาสกผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย) ๓.ปัตตอุกกุชชนา (การหงายบาตร คือ ประกาศระงับโทษอุบาสกผู้เคยมุ่งร้ายต่อพระรัตนตรัย ซึ่งได้กลับตัวแล้ว) ๔. อุมมัตตกสมมติ (การสวดประกาศความตกลงให้ถือภิกษุผู้วิกลจริตในระดับที่จำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง ว่าเป็นผู้วิกลจริต เพื่อว่าเมื่อภิกษุนั้นระลึกอุโบสถหรือสังฆกรรมได้ก็ตาม ระลึกไม่ได้ก็ตาม มาร่วมก็ตาม ไม่มาก็ตาม สงฆ์จะพร้อมด้วยเธอ หรือปราศจากเธอก็ตาม ก็จะทำอุโบสถได้ ทำสังฆกรรมได้) ๕. เสกขสมมติ (การสวดประกาศความตกลงตั้งสกุลคือครอบครัวที่ยิ่งด้วยศรัทธาแต่หย่อนด้วยโภคะ ให้ถือว่าเป็นเสขะ เพื่อมิให้ภิกษุรบกวนไปรับอาหารมาฉัน นอกจากได้รับนิมนต์ไว้ก่อน หรืออาพาธ) ๖.พรหมทัณฑ์ (“การลงโทษอย่างสูงส่ง” คือการที่สงฆ์มีมติลงโทษภิกษุหัวดื้อว่ายาก โดยวิธีพร้อมกันไม่ว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนใดๆ ดังที่ทำแก่พระฉันนะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว) ๗.ปกาสนียกรรม (การประกาศให้เป็นที่รู้ทั่วกัน ถึงสภาวะของภิกษุรูปนั้นซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสงฆ์ อันพึงถือว่าการใดที่เธอทำก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเธอ ไม่ผูกพันกับสงฆ์หรือต่อพระศาสนา ดังที่ทำแก่พระเทวทัต) ๘. อวันทนียกรรม (การที่ภิกษุณีสงฆ์มีมติประกาศให้เป็นที่รู้ทั่วกันถึงภิกษุผู้มีพฤติกรรมหรือแสดงอาการอันไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส และให้ถือว่าภิกษุนั้นเป็นผู้ที่ภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงไหว้)
ดู เทวทัต, นิคหกรรม