คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ปฏิกรรม

“การทำคืน”, “การแก้กรรม”, การแก้ไข, การกลับทำใหม่ให้เป็นดี, เป็นคำสอนสำคัญส่วนหนึ่งในการทำกรรม มีสาระสำคัญ คือ ยอมรับความผิดพลาดที่ได้ทำไปแล้ว ละเลิกบาปอกุศลหรือการกระทำผิดพลาดเสียหายที่เคยทำนั้น และหันมาทำความดีงามถูกต้องหรือบุญกุศล แก้ไขปรับปรุงตนเปลี่ยนแปรกรรมให้ดี, ในทางปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้ทรงนำหลักปฏิกรรมมาวางเป็นระบบวิธีปฏิบัติทางสังคม คือในด้านวินัย ขั้นพื้นฐาน ๓ ประการ ได้แก่ ๑. วินัยบัญญัติ (สำหรับพระสงฆ์) เรื่องอาปัตติปฏิกรรม ซึ่งแปลกันว่าการทำคืนอาบัติ คือการที่ภิกษุหรือภิกษุณีบอกแจ้งความผิดของตน เพื่อจะสังวรต่อไป แม้แต่แค่สงสัย ดังเช่น เมื่อถึงวันอุโบสถ ภิกษุรูปหนึ่งเกิดความสงสัยว่าตนอาจจะได้ต้องอาบัติ ก็บอกแจ้งแก่ภิกษุอื่นรูปหนึ่งว่า (เช่น วินย.4/186/246) “อหํ อาวุโส อิตฺถนฺนามาย อาปตฺติยา เวมติโก, ยทา นิพฺเพมติโก ภวิสฺสามิ, ตทา ตํ อาปตฺตึ ปฏิกริสฺสามิ” (ท่านครับ ผมมีความสงสัยในอาบัติชื่อนี้ หายสงสัยเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นเมื่อนั้น, “ปฏิกริสฺสามิ” เป็นรูปกริยาของปฏิกรรม) ๒. วินัยบัญญัติ (สำหรับพระสงฆ์) เรื่องปวารณากรรม คือหลังจากอยู่ร่วมกันมาตลอดพรรษา ภิกษุหรือภิกษุณีทั้งหลายประชุมกัน และแต่ละรูปกล่าวคำเปิดโอกาสหรือเชิญชวนแก่ที่ประชุมเริ่มด้วยรูปที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดว่า (วินย.4/226/314) “สงฺฆํ อาวุโส ปวาเรมิ ทิฏฺเฐนวา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา, วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกริสฺสามิ” (เธอทั้งหลาย ฉันปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่ จักทำคืน, “ปฏิกริสฺสามิ” เป็นรูปกริยาของปฏิกรรม) ๓. อริยวินัย (สำหรับทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์) เรื่องอัจจยเทศนา คือการแสดงความยอมรับหรือสำนึกผิดในการที่ตนได้ทำความผิดละเมิดหรือล่วงเกินผู้อื่น และมาบอกขอให้ผู้อื่นนั้นยอมรับความสำนึกของตน เพื่อที่ตนจะได้สำรวมระวังต่อไป ดังเช่นในกรณีนายขมังธนูที่รับจ้างมาเพื่อสังหารพระพุทธเจ้า แล้วสำนึกผิด และเข้ามากราบทูลความสำนึกผิดของตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสข้อความที่เป็นหลักในเรื่องนี้ว่า (วินย.7/369/180) “ยโต จ โข ตฺวํ อาวุโส อจฺจยํ อจฺจยโต ทิสฺวา ยถาธมฺมํ ปฏิกโรสิ, ตนฺเต มยํ ปฏิคฺคณฺหาม, วุทฺธิ เหสา อาวุโส อริยสฺส วินเย, โย อจฺจยํ อจฺจยโต ทิสฺวา ยถาธมฺมํ ปฏิกโรติ, อายตึ สํวรํ อาปชฺชติ” (เพราะการที่เธอมองเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราจึงยอมรับโทษนั้นของเธอ การที่ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสังวรต่อไป ข้อนั้น เป็นความเจริญในอริยวินัย, “ปฏิกโรสิ” และ “ปฏิกโรติ” เป็นรูปกริยาของปฏิกรรม)