คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ปฏิจจสมุปบาท

[ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด] “การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกัน เกิดขึ้นพร้อม”, สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้
๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
๒.สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ

เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
๓. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ

เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
๔. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ

เพราะนามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส

เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา

เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
๗. เวทนาปจฺจยา ตฺณหา

เพราะเวทนา เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
๘. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ

เพราะตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว

เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี
๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ

เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
๑๑. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ

เพราะชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ

โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

จึงมีพร้อม

เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้

ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันไปตามลำดับอย่างนี้ แสดงทุกขสมุทัยคือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า สมุทัยวาร (พึงสังเกตว่า คำว่า สมุปบาท กับสมุทัย มีความหมายเหมือนกันว่า ความเกิดขึ้นพร้อม), เมื่อทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ การที่จะดับทุกข์ ก็คือดับธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ดังนั้น ท่านจึงแสดงกระบวนธรรมแบบที่ตรงข้ามไว้ด้วย คือ ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมอันเป็นปัจจัยดับต่อๆ กันไป (เริ่มตั้งแต่ว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ, เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”) เป็นการแสดงทุกขนิโรธ คือความดับไปแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทแบบ นิโรธวาร

ปฏิจจสมุปบาทนี้ บางทีเรียกชื่อเต็มเป็นคำซ้อนว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท (ภาวะที่อันนี้ๆ มี เพราะอันนี้ๆ เป็นปัจจัย [หรือประชุมแห่งปัจจัยเหล่านี้ๆ] กล่าวคือการที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม), ในคัมภีร์ท้ายๆ ของพระสุตตันตปิฎก และในพระอภิธรรมปิฎก มีคำเรียกปฏิจจสมุปบาทเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจยาการ (อาการที่เป็นปัจจัยแก่กัน), เนื่องจากปฏิจจสมุปบาทแสดงอาการที่ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันต่อเนื่องไปเป็นวงจรหรือหมุนเป็นวงวน และเมื่อมองต่อขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ก็เห็นสภาพชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เร่ร่อนว่ายวนเวียนไปในภพภูมิต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ก็ได้เกิดมีคำเรียกความเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทนั้นว่า “วัฏฏะ” (สภาพหมุนวน) บ้าง “สังสาระ” (การเที่ยวเร่ร่อนไป) บ้าง “สังสารวัฏฏ์” (วงวนแห่งการเที่ยวเร่ร่อนไป) บ้าง ตลอดจนคำในชั้นอรรถกถา ซึ่งบางทีเรียกปฏิจจสมุปบาทว่า “ภวจักร” และ “สังสารจักร”

ในการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสไว้ว่าเป็นธรรมลึกซึ้งนี้ พระอรรถกถาจารย์ได้พยายามชี้แจงโดยจัดองค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นกลุ่มเป็นประเภทและเป็นช่วงๆ คือ องค์ที่ ๑ อวิชชา องค์ที่ ๘ ตัณหา และองค์ที่ ๙ อุปาทาน สาม อย่างนี้เป็น กิเลส, องค์ที่ ๒ สังขาร และองค์ที่ ๑๐ ภพ สองอย่างนี้เป็น กรรม, องค์ที่ ๓-๗ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา และองค์ที่ ๑๑–๑๒ ชาติ ชรามรณะ เจ็ดองค์นี้เป็นวิบาก, เมื่อมองตามกลุ่มหรือตามประเภทอย่างนี้ จะเห็นได้ง่ายว่า กิเลสเป็นเหตุให้ก่อกรรม แล้วกรรมก็ทำให้เกิดผลที่เรียกว่าวิบาก (แล้ววิบากก็เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส), เมื่อมองความเป็นไปตลอดปฏิจจสมุปบาทครบทั้ง ๑๒ องค์ เป็นการหมุนวนหนึ่งรอบ ก็คือ ครบ ๑๒ องค์นั้น เป็นวัฏฏะ ก็จะเห็นว่าวัฏฏะนั้นแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือช่วงกิเลส ช่วงกรรม และช่วงวิบาก เมื่อวัฏฏะมีสามช่วงอย่างนี้ ก็จึงเรียกปฏิจจสมุปบาทว่าเป็น ไตรวัฏฏ์ (วงวนสามส่วน หรือวงวนสามซ้อน) ประกอบด้วย กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์, การอธิบายแบบไตรวัฏฏ์นี้ เป็นวิธีที่ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นอย่างน้อยในขั้นเบื้องต้น ต่อจากนั้น อธิบายให้ลึกลงไป โดยแยกแยะอีกชั้นหนึ่งว่า ในรอบใหญ่ที่ครบ ๑๒ องค์นั้น มองให้ชัดจะเห็นว่ามีไตรวัฏฏ์ต่อกัน ๒ รอบ คือ รอบที่ ๑ องค์ที่ ๑ อวิชชา เป็นกิเลส, องค์ที่ ๒ สังขาร เป็นกรรม, องค์ที่ ๓-๗ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นวิบาก, รอบที่ ๒ องค์ที่ ๘ ตัณหา และองค์ที่ ๙ อุปาทาน เป็นกิเลส, องค์ที่ ๑๐ ภพ เป็นกรรม, องค์ที่ ๑๑–๑๒ ชาติ ชรามรณะ เป็นวิบาก, จากนั้นอธิบายต่อไปว่า องค์ที่เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก ในรอบที่ ๑ มองดูแตกต่างกับองค์ที่เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก ในรอบที่ ๒ แต่ที่จริง โดยสาระไม่ต่างกัน ความแตกต่างที่ปรากฏนั้น คือการพูดถึงสภาวะอย่างเดียวกันแต่ใช้ถ้อยคำต่างกัน เพื่อระบุชี้องค์ธรรมที่ออกหน้ามีบทบาทเด่นเป็นตัวแสดงในวาระนั้น ส่วนองค์ธรรมที่ไม่ระบุ ก็มีอยู่ด้วยโดยแฝงประกบอยู่ หรือถูกรวมเข้าไว้ด้วยคำสรุปหรือคำที่ใช้แทนกันได้ เช่น ในรอบ ๑ ที่ระบุเฉพาะอวิชชาเป็นกิเลสนั้น ที่แท้ตัณหาอุปาทานก็พ่วงพลอยอยู่ด้วย ส่วนในรอบ ๒ ที่ว่าตัณหาอุปาทานเป็นกิเลสนั้น ในขณะที่ตัณหาอุปาทานเป็นเจ้าบทบาทออกโรงอยู่ ก็มีอวิชชาอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา, ในรอบ ๑ ที่ยกสังขารขึ้นมาระบุว่าเป็นกรรม ก็เพราะเน้นที่การทำงาน ส่วนในรอบ ๒ ที่ระบุว่าภพเป็นกรรม ก็เพราะจะให้มองที่ผลรวมของงานที่ทำคือกรรมภพ, และ ชาติ ชรามรณะ ที่ว่าเป็นวิบากในรอบ ๒ นั้น ก็หมายถึงการเกิดเป็นต้น ของวิญญาณ นามรูป ฯลฯ ที่ระบุว่าเป็นวิบากในรอบ ๑ นั่นเอง ดังนี้เป็นต้น
ดู ไตรวัฏฏ์