คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : นัมมทา

ชื่อแม่น้ำสายสำคัญในภาคกลางของอินเดีย ไหลไปคล้ายจะเคียงคู่กับเทือกเขาวินธยะ ถือว่าเป็นเส้นแบ่งระหว่างอุตราบถ (ดินแดนแถบเหนือ) กับทักขิณาบถ (ดินแดนแถบใต้) ของชมพูทวีป, บัดนี้เรียกว่า Narmada แต่บางทีเรียก Narbada หรือ Nerbudda ชาวฮินดูถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สุด รองจากแม่น้ำคงคา, แม่น้ำนัมมทายาวประมาณ ๑,๓๐๐ กม. ไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางตะวันตกเฉียงใต้ออกทะเลที่ใต้เมืองท่าภารุกัจฉะ (บัดนี้เรียก Bharuch) สู่อ่าว Khambhat (Cambay ก็เรียก), อรรถกถาเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปสุนาปรันตรัฐตามคำอาราธนาของพระปุณณะผู้เป็นชาวแคว้นนั้นแล้ว ระหว่างทางเสด็จกลับ ถึงแม่น้ำนัมมทา ได้แสดงธรรมโปรดนัมมทานาคราช ซึ่งได้ทูลขอของที่ระลึกไว้บูชา จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานั้น อันถือกันมาว่าเป็นพระพุทธบาทแห่งแรก
ดู วินธยะ, ทักขิณาบถ, อุตราบถ, ปุณณสุนาปรันตะ