คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : วิหาร

ที่อยู่ 1. ที่อยู่ของสงฆ์, กุฎี; วัด 2. (ในภาษาไทย) อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มักคู่กับโบสถ์ 3. การพักผ่อน, การเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิต 4. การครองชีวิตจิตใจ, ธรรมอันเป็นที่อยู่ที่พักของชีวิตจิตใจ, ธรรมเครื่องอยู่, ธรรมประจำใจ, ธรรมที่ใช้ครองชีวิตจิตใจ

วิหาร คือธรรมเครื่องอยู่ครองชีวิตจิตใจนี้ แสดงไว้ในพระสูตร ๓ อย่าง คือ ทิพยวิหาร, ทิพพวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ทิพย์ หรืออย่างเทพ ได้แก่ สมาบัติ ๘) พรหมวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม คือของผู้ประเสริฐหรือท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ ได้แก่ อัปปมัญญา ๔) และ อริยวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะหรืออย่างอริยะ ได้แก่ ผลสมาบัติ) (ที.ปา.11/228/232; ที.อ.๓/๒๐๒)

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาอยู่พระองค์เดียว ครั้นออกพรรษาแล้ว ตรัสแก่เหล่าภิกษุว่า ทรงจำพรรษาอยู่มากด้วยอานาปานสติสมาธิ และตรัสว่าอานาปานสตินี้ จะเรียกว่าเป็นอริยวิหาร เป็นพรหมวิหาร เป็นตถาคตวิหารก็ได้ทั้งนั้น (สํ.ม.19/1366/412)

ในคัมภีร์สายเนตติปกรณ์แสดงวิหาร ๔ คือ ทิพพวิหาร (ได้แก่ รูปาวจรสมาบัติ ๔) พรหมวิหาร (ได้แก่ อัปปมัญญา ๔) อริยวิหาร (ได้แก่ ผลสมาบัติ ๔) และ อาเนญชวิหาร (ได้แก่ อรูปสมาบัติ ๔), แต่ที่แสดงวิหาร ว่ามี นั้น ท่านว่ารวมอรูปสมาบัติอยู่ในทิพพวิหารด้วยแล้ว (เนตติวิภา.ฏี.๓๒๔;ม๑ ๑.ฏี.๕๔)

ในอรรถกถา-ฎีกาทั่วไป กล่าวถึงวิหารอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมเครื่องครองชีวิตพื้นฐาน ได้แก่ อิริยาบถวิหาร คืออิริยาบถ ๔ อันเป็นเครื่องบริหารอัตภาพ ประกอบวิหารข้ออื่นทุกอย่าง (ดูเช่น วินย.ฏี.๑/๓๑๔)

โดยนัยนี้ จึงรวมมีวิหาร ที่แสดงไว้ ๕ อย่าง คือ อิริยาบถวิหาร ทิพพวิหาร พรหมวิหาร อริยวิหาร และ อาเนญชวิหาร