คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : อาจารย์

ผู้สั่งสอนธรรมอำนวยวิชาความรู้, ผู้ฝึกอบรมจรรยามารยาท

อาจารย์ ๔ คือ ๑. บัพพัชชาจารย์ หรือ บรรพชาจารย์ อาจารย์ในบรรพชา (คือผู้ให้สิกขาบท หรือให้ศึกษาข้อพึงศึกษาในคราวบรรพชา) ๒. อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ในอุปสมบท (คือผู้กล่าวหรือสวดกรรมวาจาในคราวอุปสมบท) ๓. นิสสยาจารย์ อาจารย์ผู้ให้นิสสัย (คือ ท่านที่นิสิตไปถือนิสสัยอยู่ด้วย) ๔. อุทเทศาจารย์ หรือ ธรรมาจารย์ อาจารย์ผู้สอนธรรม (คือท่านผู้ให้อุเทศหรือปริปุจฉา คือผู้ให้ศึกษาพุทธพจน์)

ในอรรถกถาแห่งวินัยปิฎก ท่านว่าอาจารย์มี ๔ อย่างนี้ (วินย.อ.๓/๑๘๒) แต่บางทีก็ว่ามี ๕ (วินย.อ.๓/๕๘๒) อาจารย์ ๕ คือเพิ่มข้อ ๕. โอวาทาจารย์ อาจารย์ผู้กล่าวโอวาท (คือท่านที่บอกกล่าวแนะนำตักเตือนตั้งแต่การนุ่งห่มและกิริยามารยาทต่างๆ ในจำพวกเสขิยวัตร และอภิสมาจาร) แต่ที่ถือเป็นหลักคือ อาจารย์ ๔ โดยรวมโอวาทาจารย์อยู่ในอาจารย์ทั้ง ๔ นั้น

โดยถือตามพุทธบัญญัติว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุมีพรรษา ๑๐ อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษา ๑๐ ให้นิสสัย” (วินย.4/92/112) ท่านจึงวางหลักว่า ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยกำลังความฉลาดสามารถ มีพรรษา ๑๐ หรือเกิน ๑๐ จึงเป็นอาจารย์ (ดู วินยาลงฺการฏีกา 2.6) และมีเกณฑ์ที่ผ่อนลงมาว่า ถ้ามีพรรษายังไม่ครบ ๑๐ หากมีพรรษาแก่กว่ากัน ๖ พรรษาแล้ว เช่น ภิกษุพรรษา ๖ สำหรับภิกษุที่ยังไม่ได้พรรษา ภิกษุพรรษา ๙ สำหรับภิกษุที่มีพรรษา ๓ เรียกว่าเป็นคราวอาจารย์ หรือรุ่นอาจารย์ (อาจริยมัตต์)