คำศัพท์ :
ขุชชุตราอริยสาวิกาสำคัญท่านหนึ่งในฝ่ายอุบาสิกา บางทีเรียกว่าเป็นอัครอุบาสิกา เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นตราชูของอุบาสิกาบริษัท (คู่กับเวฬุกัณฏกีนันทมารดา) ท่านเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาที่เป็นพหูสูต เป็นผู้มีปัญญามาก ได้บรรลุเสขปฏิสัมภิทา (ปฏิสัมภิทาของพระเสขะ), ตามประวัติที่อรรถกถาเล่าไว้ อริยสาวิกาท่านนี้ เป็นธิดาของแม่นมในบ้านของโฆสิตเศรษฐี (อรรถกถาเรียกเพี้ยนเป็นโฆสกเศรษฐี ก็มี) ในเมืองโกสัมพี ได้ชื่อว่า "ขุชชุตรา" เพราะเกิดมามีหลังค่อม (เขียนเต็มตามรูปคำบาลีเดิม เป็น "ขุชฺชุตฺตรา" ขุชฺชา แปลว่า ค่อม ชื่อของนางแปลเต็มว่า อุตราผู้ค่อม) ต่อมา เมื่อนางสามาวดี ธิดาบุญธรรมของโฆสิตเศรษฐีได้รับอภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพี นางขุชชุตราก็ได้ไปเป็นผู้ดูแลรับใช้ (เป็นอุปัฏฐายิกา, แต่อรรถกถาบางแห่งใช้คำว่าเป็นบริจาริกา) ขุชชุตราไม่ค่อยจะซื่อตรงนัก ดังเรื่องว่า เวลาไปซื้อดอกไม้ นางเอาเงินไป ๘ กหาปณะ แต่เก็บเอาไว้เสียเอง ๔ กหาปณะ ซื้อจริงเพียง ๔ กหาปณะ อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าของร้านดอกไม้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไปฉัน เมื่อขุชชุตราไปที่ร้านจะซื้อดอกไม้ เจ้าของร้านจึงขอให้รอก่อน และเชิญให้ร่วมจัดแจงภัตตาหารถวายด้วย ขุชชุตราได้รับประทานอาหารเอง และทั้งได้เข้าครัวช่วยจัดภัตตาหาร แล้วก็เลยได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสตลอดทั้งหมดจนถึงอนุโมทนา และได้สำเร็จเป็นโสดาบัน เมื่อเป็นอริยบุคคลแล้ว วันนั้นก็จึงซื้อดอกไม้ครบ ๘ กหาปณะ ได้ดอกไม้ไปเต็มกระเช้า พระนางสามาวดีแปลกพระทัย ก็ตรัสถามว่าทำไมเงินเท่าเดิม แต่วันนั้นได้ดอกไม้มามากเป็นพิเศษ ขุชชุตราเป็นอริยชนแล้วก็เล่าเปิดเผยเรื่องไปตามตรง พระนางสามาวดีกลับพอพระทัย และพร้อมด้วยสตรีที่เป็นราชบริพารทั้งหมด พากันขอให้ขุชชุตราถ่ายทอดธรรม ขุชชุตราแม้จะเป็นคนค่อนข้างพิการ แต่มีปัญญาดีมาก (สำเร็จปฏิสัมภิทาของเสขบุคคล) ได้นำธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสมาถ่ายทอดเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงแสดง ทำให้พระนางสามาวดีและสตรีที่เป็นราชบริพารเข้าใจแจ่มแจ้งบรรลุโสดาปัตติผลทั้งหมด จากนั้น พระนางสามาวดีได้ยกขุชชุตราขึ้นพ้นจากความเป็นผู้รับใช้เชิดชูให้มีฐานะดังมารดาและเป็นอาจารย์ที่เคารพ โดยให้มีหน้าที่ไปฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมทุกวัน แล้วนำมาเล่ามาสอนต่อที่วัง เวลาผ่านไป ต่อมาพระนางสามาวดี ถูกพระนางมาคัณฑิยาประทุษร้ายวางแผนเผาตำหนักสิ้นพระชนม์ในกองเพลิงพร้อมทั้งบริพาร แต่พอดีว่า ขณะนั้น ขุชชุตราไปกิจที่อื่น จึงพ้นอันตราย
พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า (อิติ.อ.๓๔) พระสูตรทั้งหมดในคัมภีร์อิติวุตตกะแห่งขุททกนิกายในพระไตรปิฎก จำนวน ๑๑๒ สูตร ได้มาจากอริยสาวิกาขุชชุตราท่านนี้ กล่าวคือ นางขุชชุตราไปฟังจากพระพุทธเจ้าและนำมาถ่ายทอดที่วังแก่พระนางสามาวดีพร้อมทั้งบริพาร แล้วภิกษุณีทั้งหลายก็รับไปจากอริยสาวิกาขุชชุตรา และต่อทอดถึงภิกษุทั้งหลาย (พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่เมืองโกสัมพีในปีที่ ๙ แห่งพุทธกิจ และเมืองโกสัมพีอยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ วัดตรงเป็นเส้นบรรทัด ๔๐๕ กม. ไม่พบหลักฐานว่านางขุชชุตรามีชีวิตอยู่ถึงพุทธปรินิพพานหรือไม่) ทั้งนี้ได้รักษาไว้ตามที่นางขุชชุตรานำมากล่าวแสดง ดังที่คำเริ่มต้นพระสูตรชุด ๑๑๒ สูตรนี้ ก็เป็นคำของนางขุชชุตราว่า "วุตฺตํ เหตํ ภควตา วุตฺตมรหตาติ เม สุตํ" (แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้ไว้ ข้าพเจ้าได้สดับมาดังที่พระองค์อรหันต์ตรัสแล้วว่า...) ซึ่งพระอานนท์ก็นำมากล่าวในที่ประชุมสังคายนา ณ เมืองราชคฤห์ ตามคำเดิมของนาง (คำเริ่มต้นของนางมีเพียงเท่านี้ ไม่บอกสถานที่ตรัส เพราะเป็นพระสูตรซึ่งทรงแสดงที่เมืองโกสัมพีทั้งหมด และไม่บอกว่าตรัสแก่ใคร แต่ในทุกสูตรมีคำตรัสเรียกผู้ฟังว่า "ภิกฺขเว" บ่งชัดว่าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย คือคงตรัสในที่ประชุมซึ่งมีภิกษุสงฆ์เป็นส่วนใหญ่) อันต่างจากพระสูตรอื่นๆ ที่คำเริ่มต้นเป็นของพระอานนท์เอง ซึ่งขึ้นนำว่า "เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา [บอกสถานที่ เช่น ราชคเห วิหรติ... และระบุบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น เตนโข ปน สมเยน ราชา มาคโธ...] ..." (ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่...โดยสมัยนั้นแล [บุคคลนั้นๆ]...)
เรื่องที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นเกียรติคุณของอริยสาวิกา ซึ่งได้ทำประโยชน์ไว้แก่พระพุทธศาสนา สมเป็นผู้ทรงปฏิสัมภิทา และได้รับพระพุทธดำรัสยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต; (คำเดิมว่า "ขุชฺชุตฺตรา"),
ดู ตุลา, เอตทัคคะ