ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : อากาศ
ที่ว่างเปล่า, ช่องว่าง, ท้องฟ้า; ในความหมายเดิม ไม่เรียกแก๊สที่ใช้หายใจว่าอากาศ แต่เรียกแก๊สนั้นว่าเป็นวาโย
หรือวาโยธาตุ; ในอรรถกถา ท่านแยกประเภทตามความหมายนัยต่างๆ เป็นอากาศ ๓ คือ ปริจเฉทากาศ กสิณุคฆาฏิมากาศ และอัชฏากาศ (ปญจ.อ.๑๑๓๒/๒๒๐) แต่ในคัมภีร์ชั้นหลัง บางแห่ง (เช่น ปาจิตฺยาทิโยชนา และอนุทีปนีปาฐ, มีแต่ฉบับอักษรพม่า ยังไม่พบตีพิมพ์ในประเทศไทย) แยกละเอียดออกไปอีกเป็น อากาศ ๔ คือ ๑. ปริจเฉทากาศ ช่องว่างที่กำหนดแยกรูปทั้งหลาย หรือช่องว่างระหว่างกลาป คือ รูปในความหมายที่เป็นปริจเฉทรูป (รูปปริจเฉทากาศ ก็เรียก) ๒. ปริจฉินนากาศ ช่องว่างที่ถูกกำหนดแยก คือช่องว่างระหว่างวัตถุทั้งหลาย เช่น ช่องประตู รูฝา ช่องหน้าต่าง ช่องหู รูจมูก (ที่ใช้เป็นอากาศกสิณ คือข้อนี้) ๓. กสิณุคฆาฏิมากาศ ช่องว่างที่เกิดจากการเพิกกสิณนิมิต คือช่องว่างหรืออากาศอันอนันต์ที่เป็นอารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌาน ๔. อัชฏากาศ ช่องว่างเวิ้งว้าง คือท้องฟ้า (บางทีเรียกว่า ตุจฉากาศ คือช่องว่างที่ว่างเปล่า) แล้วบอกว่า ข้อที่ ๒ คือ ปริจฉินนากาศ จัดรวมเข้าได้กับข้อที่ ๑ คือรูปปริจเฉทากาศ นี่ก็หมายความว่า ท่านแยกข้อที่ ๑ ของอรรถกถา ออกเป็น ๒ ข้อ, เหตุที่คัมภีร์ชั้นหลังแยกอย่างนี้ เพราะต้องการแยกอากาศที่เป็นสภาวธรรม คือที่เป็นปริจเฉทรูป ออกไว้ต่างหากให้ชัด ดังจะเห็นว่า อีกข้อหนึ่งคือ ปริจฉินนากาศ อย่างช่องหู รูกุญแจหรือช่องที่กำหนดเป็นอารมณ์กสิณ ก็เนื่องกันอยู่กับอัชฏากาศนั่นเอง (เป็นเพียงบัญญัติ มิใช่สภาวะ) แต่ในอรรถกถาและคัมภีร์ทั่วไปที่ไม่แยกละเอียดอย่างนั้น เรียกอากาศที่กำหนดเป็นกสิณ คืออากาศกสิณ ว่าเป็นปริจเฉทากาศกสิณ บ้าง ปริจฉินนากาศกสิณ บ้าง ไม่ถือตายตัว, จะเห็นว่า อากาศในข้อ ๒ เป็นกสิณสำหรับผู้เจริญรูปฌาน เมื่อเพิกกสิณนิมิตของข้อ ๒ นี้ ก็เป็นอากาศในข้อ ๓; “อัชฏากาศ” นี้ ถือตามหนังสือเก่า จะเขียน อชฏากาศ ก็ได้
ดู รูป ๒๘