คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ปัจจัย

1. สภาวะที่เอื้อ เกื้อหนุน ค้ำจุน เป็นเหตุ หรือเป็นเงื่อนไข ให้สภาวะอื่นเกิดขึ้น คงอยู่ หรือเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง, เหตุ, เงื่อนไข, องค์ประกอบ; ปัจจัยมีคำที่มีความหมายใกล้เคียง คือ เหตุ ซึ่งบางทีใช้แทนกันได้ หรือเสริมย้ำกัน แต่พอแยกความหมายได้ว่า ปัจจัยเป็นคำรวม มีความหมายกว้าง มีลักษณะสาธารณะ ไม่จำเพาะ โดยเป็นตัวเอื้อ เป็นเงื่อนไข เป็นตัวประกอบ เป็นตัวสร้างโอกาส เป็นต้น ส่วน เหตุ มีลักษณะจำเพาะ ไม่สาธารณะ คือเป็นปัจจัยตัวตรงในการก่อผล, อีกประการหนึ่ง ปัจจัย ที่ว่ามีความหมายกว้างนั้น คือแยกแยะให้รู้บรรดาองค์ประกอบทั้งหลายในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย อันมีเหตุเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง คือปัจจัยตัวจำเพาะในการก่อผล แต่ในการที่ผลรวมจะเกิดขึ้น มิใช่มีแค่ลำพังตัวเหตุเท่านั้น แต่ต้องมีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบพรั่งพร้อม เรียกว่าเป็นปัจจัยสามัคคี ผลที่หมายจึงจะเกิดขึ้น; เทียบ เหตุ

ปัจจัย ๒๔ คือ ๑. เหตุปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเหตุ) ๒. อารัมมณปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอารมณ์) ๓. อธิปติปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเจ้าใหญ่) ๔. อนันตรปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะต่อเนื่องไม่มีช่องระหว่าง) ๕. สมนันตรปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะต่อเนื่องทันที) ๖. สหชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดร่วมกัน) ๗. อัญญมัญญปัจจัย (ปัจจัยโดยอาศัยซึ่งกันและกัน) ๘. นิสสยปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย) ๙. อุปนิสสยปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเครื่องหนุนหรือกระตุ้นเร้า) ๑๐. ปุเรชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดก่อน) ๑๑. ปัจฉาชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดทีหลัง) ๑๒. อาเสวนปัจจัย (ปัจจัยโดยการซ้ำบ่อยหรือทำให้ชิน) ๑๓. กรรมปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นกรรมคือเจตจำนง) ๑๔. วิปากปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นวิบาก) ๑๕. อาหารปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอาหาร คือเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง) ๑๖. อินทรียปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเจ้าการ) ๑๗. ฌานปัจจัย (ปัจจัยโดยภาวะจิตที่เป็นฌาน) ๑๘. มรรคปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นมรรค) ๑๙. สัมปยุตตปัจจัย (ปัจจัยโดยประกอบกัน) ๒๐. วิปปยุตตปัจจัย (ปัจจัยโดยแยกต่างหากกัน) ๒๑. อัตถิปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]มีอยู่) ๒๒. นัตถิปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ไม่มีอยู่) ๒๓. วิคตปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ปราศไป) ๒๔. อวิคตปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ไม่ปราศไป

2. ของสำหรับอาศัยใช้, เครื่องอาศัยของชีวิต, สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต มี ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต(อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) คิลานเภสัช (ยาบำบัดโรค)
เทียบ เหตุ