คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : เวชกรรม

"กรรมของหมอ", "การงานของแพทย์", การบำบัดโรครักษาคนเจ็บไข้, อาชีพแพทย์, การทำตัวเป็นหมอปรุงยาใช้ยาแก้ไขโรครักษาคนไข้; การประกอบเวชกรรม ถือว่าเป็นมิจฉาชีพสำหรับพระภิกษุ (เช่น ที.สี.9/25/15; ขุ.จู.30/713/360) ถึงแม้จะไม่ทำเพื่อการเลี้ยงชีพหรือจะหาลาภ ก็เสี่ยงต่ออาบัติในข้อตติยปาราชิก (วินย.1/215/158-159) หรือไม่ก็เข้าข่ายกุลทูสกสิกขาบท (สังฆาทิเสส ข้อ ๑๓, วินย.1/624/426 เรียกเวชกรรมว่า 'เวชชิกา') อย่างไรก็ตาม ท่านก็ได้เปิดโอกาสไว้สำหรับการดูแลช่วยเหลือกันอันจำเป็นและสมควร ดังที่มีข้อสรุปในคัมภีร์ว่า ภิกษุไม่ประกอบเวชกรรม แต่ (มงคล.๑/๑๘๙ สรุปจาก วินย.อ.๑/๕๗๓-๗) พึงทำยาให้แก่คนที่ท่านอนุญาต ๒๕ ประเภท คือบุคคล ๑๐ (สหธรรมิก ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี, ปัณฑุปลาสคือคนมาอยู่วัดเตรียมบวช ไวยาวัจกรของตน มารดา บิดา อุปฐากของมารดาบิดา) ญาติ ๑๐ (พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง น้าหญิง ป้า อาชาย ลุง อาหญิง น้าชาย; อนุชนมีบุตรนัดดาเป็นต้นของญาติเหล่านั้น ๗ ชั่วเครือสกุล ท่านก็จัดรวมเข้าในคำว่า "ญาติ ๑๐" ด้วย) คน ๕ (คนจรมา โจร คนแพ้สงคราม คนเป็นใหญ่ คนที่ญาติทิ้งจะไปจากถิ่น) ถ้าเขาเจ็บป่วยเข้ามาวัด พึงทำยาให้เขา ทั้งนี้ มีรายละเอียดในการที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดหลายอย่าง ข้อสำคัญคือ ให้เป็นการทำด้วยเมตตาการุณย์แท้จริง มิใช่หวังลาภ ไม่ให้เป็นการรับใช้หรือประจบประแจง