คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ไวยาวัจกร

"ผู้ทำการขวนขวายช่วยเหลือ/รับใช้", ผู้จัดทำธุระให้, คฤหัสถ์ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ, คฤหัสถ์ผู้ทำกิจธุระแทนภิกษุหรือแทนสงฆ์, คฤหัสถ์ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัด

ในพระวินัย ไวยาวัจกร หมายถึงคฤหัสถ์ผู้ช่วยเหลือรับใช้หรือทำกิจธุระให้แก่ภิกษุภิกษุณี ดังเช่นคนวัด หรืออุบาสกที่ภิกษุบอกแสดงหรือชี้ตัวว่าเป็นไวยาวัจกร ซึ่งบุคคลผู้ประสงค์จะได้มอบทรัพย์สำหรับจ่ายค่าจีวรให้ไว้ เพื่อภิกษุนั้นจะได้บอกแจ้งให้จัดจีวรถวายเมื่อต้องการ (สิกขาบทที่ ๑๐ แห่งจีวรวรรคนิสสัคคิยปาจิตตีย์, วินย.2/70/57) ภิกษุณีต้มยาคู หุงข้าว ปรุงของขบเคี้ยว ซักผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าโพก ให้แก่ไวยาวัจกรของตน ได้รับยกเว้น ไม่ต้องอาบัติตามพระบัญญัติที่ว่า ภิกษุณีใดทำการขวนขวายรับใช้คฤหัสถ์ เป็นปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๔ แห่งจิตตาคารวรรค ปาจิตตีย์, วินย.3/305-306/169)

ในทางกฎหมาย ไวยาวัจกร มีคำจำกัดความตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ข้อ ๔ ว่า: ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ "ไวยาวัจกร" หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ

กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ตราขึ้นตามความในมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งกำหนดว่า การแต่งตั้ง ถอดถอนไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม และตามความในมาตรา ๔๕ แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้น ไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ นั้น ข้อ ๗ กำหนดว่า ในการแต่งตั้งไวยาวัจกรของวัดใด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้นปรึกษาสงฆ์ในวัด พิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติตามความในข้อ ๖ (เช่น เป็นชาย มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์) เมื่อมีมติเห็นชอบในคฤหัสถ์ผู้ใด ก็ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้น เป็นไวยาวัจกร โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ ในการแต่งตั้งไวยาวัจกร ตามความในวรรคต้นเพื่อความเหมาะสม จะแต่งตั้งไวยาวัจจรคนเดียว หรือหลายคน ก็ได้ ในกรณีที่มีไวยาวจกรหลายคน ให้เจ้าอาวาสมอบหมายหน้าที่การงานตามข้อ ๔ แก่ไวยาวัจกรแต่ละคนเป็นหนังสือ

บทบัญญัติเกี่ยวกับไวยาวัจกร มีในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วย พึงดูในที่นั้น