คำศัพท์ :
บอกศักราชเป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณ มีการบอกกาลเวลาเรียกว่า
บอกศักราช ตอนท้ายสวดมนต์และก่อนจะแสดงพระธรรมเทศนา (หลังจากให้ศีลจบแล้ว) ว่าทั้งภาษาบาลีและคำแปลเป็นภาษาไทย การบอกอย่างเก่าบอกปี ฤดู เดือน วัน ทั้งที่เป็นปัจจุบันอดีต และอนาคต คือบอกว่าล่วงไปแล้วเท่าใด และยังจะมีมาอีกเท่าใด จึงจะครบจำนวนอายุพระพุทธศาสนา ๕ พันปีโดยเปลี่ยนศักราชใหม่ และนับจำนวนปี
เริ่มตั้งแต่วันวิสาขบูชา เพราะพุทธศักราชนั้น ตามแบบของไทย นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว ๑ ปี
เป็น พ.ศ. ๑ แต่ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลได้ประกาศให้ถือวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา (ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มี ๙ เดือน) จึงได้มีวิธีบอกศักราชอย่างใหม่ขึ้นใช้แทน โดยบอกเฉพาะปี พ.ศ. เดือน วันที่ และวันในปัจจุบัน ทั้งบาลีและคำแปล (ถ้าบอกแบบเคร่งครัด คือ จะให้ตัวเลขตรงตามราชการด้วย และให้เวลาของพุทธศักราชตรงแท้ด้วย มิให้การนับปีของพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อน โดยถือวันวิสาขบูชาเป็นวันเปลี่ยนศักราช ก็ต้องบอกศักราชในปีหนึ่งๆ แยกเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงที่ ๑ ตั้งแต่วันวิสาขบูชาถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม และช่วงที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ของเดือนที่ทำวิสาขบูชา และปรับเปลี่ยนถ้อยคำให้สอดคล้องกับกาลเวลาในช่วงนั้นๆ แต่โดยทั่วไป อนุโลมให้บอกแบบเดียวกันตามปีของราชการ) บัดนี้ ไม่นิยมบอกศักราชกันแล้ว คงเป็นเพราะมีปฏิทินและเครื่องบอกเวลา อย่างอื่นใช้กันดื่นทั่วไป
ในที่นี้ แสดงคำบอกศักราชอย่างใหม่ไว้เป็นตัวอย่าง (เมื่อใกล้ พ.ศ. ๒๕๐๐ ยังถือปฏิบัติกันอยู่) ดังนี้
อิทานิ ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส, ปรินิพฺพานโต ปฏฺฐาย, เอกสํวจฺฉรุตฺตรปญฺจสตาธิกานิ, เทฺว สํวจฺฉรสหสฺสานิ อติกฺกนฺตานิ, ปจฺจุปฺปนฺนกาลวเสน, จิตฺรมาสสฺส เตรสมํ ทินํ, วารวเสน ปน รวิวาโร โหติ. เอวํ ตสฺสภควโต ปรินิพฺพานา, สาสนายุกาลคณนา สลฺลกฺเขตพฺพาติ.
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล, จำเดิมแต่ปรินิพพาน, แห่งพระองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค, อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น, บัดนี้ ล่วงแล้ว ๒๕๐๑ พรรษา, ปัจจุบันสมัย, เมษายนมาส, สุรทินที่ ๑๓ อาทิตยวาร, พระพุทธศาสนายุกาล, จำเดิมแต่ปรินิพพาน, แห่งพระองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค, อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น, มีนัยอันจะพึงกำหนดนับ ด้วยประการฉะนี้. [วัน เรียงลำดับจากวันอาทิตย์ไป เป็นคำบาลีว่า: รวิ จนฺท ภุมฺม วุธ ครุ สุกฺกโสร; เดือน เรียงลำดับจากเมษายนไปเป็นคำบาลีว่า: จิตฺร วิสาข เชฏฺฐอาสาฬฺห สาวน โปฏฺฐปท (หรือ ภทฺทปท) อสฺสยุช กตฺติก มิคสิร ปุสฺส มาฆผคฺคุณ; ส่วนวันที่ และเลขปี พึงประกอบตามหลักบาลีไวยากรณ์]