คำศัพท์ :
บังสุกุลตาย-บังสุกุลเป็นตามประเพณีเกี่ยวกับการศพ หลังจากเผาศพแล้วเมื่อจะเก็บอัฐิ (เก็บในวันที่เผาก็ได้ แต่นิยมเก็บตอนเช้าวันรุ่งขึ้น) มีการนิมนต์พระมาบังสุกุลอัฐิ เรียกว่า “แปรรูป” หรือ “แปรธาตุ” (พระกี่รูปก็ได้ แต่นิยมกันว่า ๔ รูป, บางท่านว่า ที่จริงไม่ควรเกิน ๓ รูป คงจะเพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่มีการทำบุญสามหาบ ซึ่งถวายแก่พระ ๓
รูป) ในการแปรรูปนั้น ก่อนจะบังสุกุลบางทีก็นิมนต์พระสงฆ์ทำน้ำมนต์มาประพรมอัฐิ เรียกว่าดับธาตุก่อน แล้ว
เจ้าหน้าที่ (สัปเหร่อ) จัดอัฐิที่เผาแล้วนั้นให้รวมเป็นส่วนๆ ตามรูปของร่างกาย
หันศีรษะไปทิศตะวันตก พร้อมแล้วญาติจุดธูปเคารพ บอกกล่าว และเอาดอกพิกุลเงินพิกุลทองหรือสตางค์วางกระจายลงไปทั่วร่างของอัฐิ แล้วประพรมด้วยน้ำอบน้ำหอม จากนั้นจึงทอดผ้าบังสุกุล และพระสงฆ์ก็กล่าวคำพิจารณาว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา”เป็นต้น อย่างที่ว่าตามปกติทั่วไป เรียกว่า
บังสุกุลตาย เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็หมุนร่างอัฐิให้หันศีรษะไปทิศตะวันออก และพระสงฆ์กล่าวคำพิจารณาเปลี่ยนเป็น
บังสุกุลเป็น มีความหมายว่าตายแล้วไปเกิด จบแล้ว เมื่อถวายดอกไม้ธูปเทียนแก่พระสงฆ์เสร็จ เจ้าภาพก็เก็บอัฐิ (เลือกเก็บจากศีรษะลงไปปลายเท้า), คำพิจารณาบังสุกุลเป็นนั้นว่า
อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
บังสุกุลตาย-บังสุกุลเป็นนี้ ต่อมามีการนำไปใช้ในการสะเดาะเคราะห์ด้วยทำนองจะให้มีความหมายว่า ตายหรือวิบัติแล้ว ก็ให้กลับฟื้นขึ้นมา, อย่างไรก็ดีถ้าไม่ระวังไว้ แทนที่จะเป็นการใช้ให้มีความหมายเชิงปริศนาธรรม ก็จะกลายเป็นการใช้ในแง่ถือโชคลาง
ดู บังสุกุล