คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : วิสาขบูชา

(เป็นคำเรียกตัดสั้น คำเต็มว่า "วิสาขปุณณมีปูชา" หรือ "วิสาขบูรณมีบูชา") การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์

วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญที่สุดในบรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่เป็นวันเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ และในแง่เป็นสากล คือเป็นที่ยอมรับทั่วไป และมีการจัดงานฉลองในประเทศทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา

ในประเทศไทย การจัดงานฉลองวันวิสาขบูชา คงจะได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขมัย โดยอาจจะสืบมาจากการติดต่อกับลังกาทวีป ที่มีงานวิสาขบูชามานานแล้ว และหนังสือเรื่องนางนพมาศ ก็เล่าเรื่องพิธีวันวิสาขบูชาในกรุงสุโขทัยไว้ด้วย

ในสมัยอยุธยา ก็เข้าใจว่ามีการฉลองใหญ่ ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ครั้งกรุงแตกแล้ว ประเพณีจึงเสื่อมทรามไป จนมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระราชโองการ เมื่อ จ.ศ. ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๖๐) กำหนดให้มีงานสมโภชประจำปีเป็นการใหญ่ยิ่งกว่างานใดอื่น

ความในพระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา จ.ศ. ๑๑๗๕ ว่า ทรงมีพระทัยปรารถนาจะบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษยิ่งกว่าที่ได้ทรงกระทำมา จึงมีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นประธาน ซึ่งได้ถวายพระพรถึงโบราณราชประเพณีงานวิสาขบูชาดังสมัยพระเจ้าภาติกราช แห่งลังกาทวีป (ตามคัมภีร์มหาวงส์ พงศาวดารลังกา เล่าไว้ ประมาณ พ.ศ. ๔๒๐) เป็นเหตุให้ทรงมีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ ครั้งละ ๓ วัน สืบมา

อย่างไรก็ตาม ครั้นกาลล่วงนานมา สภาพสังคมเปลี่ยนไป งานวันวิสาขบูชาก็ค่อยซบเซาลงอีีก

ส่วนในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ วันสำคัญที่รู้จักกันทั่วไปมีเพียงวันเดียว คือ วันวิสาขบูชา แม้ว่าการคำนวณวันเวลาจะแตกต่างกัน และเรียกชื่อวันแตกต่างกันไปบ้าง เช่นประเทศพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานตามปฏิทินจันทรคติ ในวันเพ็ญเดือน ๖ แต่ชาวพุทธญี่ปุ่นจัดงานฉลองวันประสูติของพระพุทธเจ้า ตามปฏิทินสุริยคติ ในวันที่ ๘ เมษายน คนไทยเรียก วิสาขบูชา ชาวศรีลังกาเรียกเพี้ยนไปว่า วีสัค หรือ วีซัค (Vesak หรือ Wesak) ดังนี้เป็นต้น แต่สาระสำคัญของงานก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โดยการเสนอของศรีลังกา สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล (International recognition of the Day of Vesak) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๒ จากนั้น ประเทศไทยได้จัดงานวันวิสาขบูชาในฐานะวันสำคัญสากลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ ตลอดมาทุกปี และในปี ๒๕๔๗ ก็ได้เริ่มจัดกิจกรรมฉลองในระดับนานาชาติ โดยในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. นอกจากจัดประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ ณ หอประชุมพุทธมณฑลแล้ว ก็ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก และในงานฉลองวันวิสาขบูชาโลก พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ ๔๒ ประเทศ มีมติเห็นชอบลงนาม (๒๐ พ.ค.) ในแถลงการณ์ร่วม ให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก; วิศาขบูชา ก็เขียน