คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ปัญญา

ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ดำเนินการทำให้ลุผล ล่วงพ้นปัญหา, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง (ข้อ ๓ ในไตรสิกขา, ข้อ ๑ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๕ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๕ ในพละ ๕, ข้อ ๕ ในเวสารัชชกรณธรรม ๕, ข้อ ๗ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๗ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๔ ในบารมี ๑๐)

ปัญญา ๓ คือ ๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา (ปัญญาจากโยนิโสมนสิการที่ตั้งขึ้นในตนเอง) ๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน (ปัญญาจากปรโตโฆสะ) ๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ (ญาณอันเกิดขึ้นแก่ผู้อาศัยจินตามยปัญญา หรือทั้งสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญานั่นแหละ ขะมักเขม้นมนสิการในสภาวธรรมทั้งหลาย), ตามที่พูดกัน มักเรียงสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก แต่ในที่นี้ เรียงลำดับตามพระบาลีในพระไตรปิฎก ทั้งในพระสูตร (ที.ปา.11/228/231) และพระอภิธรรม (อภิ.วิ.35/797/422) เรียงจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก (แต่ในเนตติปกรณ์ เรียงและเรียกต่างไปเล็กน้อยเป็น ๑. สุตมยีปัญญา ๒. จินตามยีปัญญา ๓. ภาวนามยีปัญญา); การที่ท่านเรียงจินตามยปัญญาก่อน หรือสุตมยปัญญาก่อนนั้น พอจับได้ว่า ท่านมองที่บุคคลเป็นหลัก คือ ท่านเริ่มที่บุคคลพิเศษประเภทมหาบุรุษก่อน ว่าพระพุทธเจ้า (และพระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ค้นพบและเปิดเผยความจริงขึ้นนั้น มิได้อาศัยปรโตโฆสะคือการฟังจากผู้อื่น แต่รู้จักโยนิโสมนสิการด้วยตนเอง ก็สามารถเรียงต่อไล่ตามประสบการณ์ทั้งหลายอย่างถึงทันทั่วรอบทะลุตลอดหยั่งเห็นความจริงได้ ท่านจึงเริ่มด้วยจินตามยปัญญา แล้วต่อเข้าภาวนามยปัญญาไปเลย แต่เมื่อมองที่บุคคลทั่วไป ท่านเริ่มด้วยสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก โดยมีคำอธิบายตามลำดับว่า บุคคลเล่าเรียนสดับฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธา นำไปใคร่ครวญตรวจสอบพิจารณา เกิดเป็นสุตมยีปัญญา อาศัยสิ่งที่ได้เรียนสดับนั้นเป็นฐาน เขาตรวจสอบชั่งตรองเพ่งพินิจขบคิดลึกชัดลงไปเกิดเป็นจินตามยีปัญญา เมื่อเขาใช้ปัญญาทั้งสองนั้นขะมักเขม้นมนสิการในสภาวธรรมทั้งหลาย แล้วเกิดญาณเป็นมรรคที่จะให้เกิดผลขึ้น ก็เป็นภาวนามยีปัญญา, น่าสังเกตว่าในคัมภีร์วิภังค์แห่งอภิธรรมปิฎก ท่านอธิบายภาวนามยปัญญาว่า ได้แก่ “สมาปนฺนสฺส ปญฺญา” (ปัญญาของผู้เข้าสมาบัติ) แต่มีคำอธิบายของคัมภีร์ต่างๆ เช่น ปรมัตถมัญชุสา ว่า คำอธิบายดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงตัวอย่าง โดยสาระก็มุ่งเอาการเห็นแจ้งความจริงที่เป็นมัคคปัญญานั่นเอง; ปัญญา ๓ อีกหมวดหนึ่งที่น่ารู้ ได้แก่ ปัญญาที่มีชื่อว่า โกศล คือความฉลาด ๓ อย่าง
ดู โกศล, อธิปัญญาสิกขา