คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ปานะ

เครื่องดื่ม, น้ำสำหรับดื่ม โดยเฉพาะที่คั้นจากลูกไม้ (รวมทั้งเหง้าพืชบางชนิด), น้ำคั้นผลไม้ (จัดเป็นยามกาลิก); มีพุทธานุญาตปานะ ๘ อย่าง (นิยมเรียกเลียนเสียงคำบาลีว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน) พร้อมทั้งน้ำคั้นพืชต่างๆ ดังพุทธพจน์ว่า (วินย.5/86/123)“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปานะ ๘ อย่าง คือ ๑. อมฺพปานํ น้ำมะม่วง ๒. ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า ๓. โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด ๔. โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด ๕. มธุกปานํ น้ำมะซาง ๖. มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๗. สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล ๘. ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่, …เราอนุญาตน้ำผลไม้ (ผลรส) ทุกชนิด เว้นน้ำผลธัญชาติ, …เราอนุญาต น้ำใบไม้ (ปัตตรส) ทุกชนิด เว้นน้ำผัก ต้ม, …เราอนุญาตน้ำดอกไม้ (บุปผรส ) ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง, …เรา อนุญาตน้ำอ้อยสด (อุจฉุรส)”

พึงทราบคำอธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำผลธัญชาติที่ต้องห้าม ได้แก่น้ำจากผลของธัญชาติ ๗ เช่น เมล็ดข้าว (น้ำซาวข้าว, น้ำข้าว) นอกจากนั้น ผลไม้ใหญ่ (มหาผล) ๙ ชนิด (จำพวกผลไม้ที่ทำกับข้าว) ได้แก่ ลูกตาล มะพร้าว ขนุน สาเก (“ลพุช” แปลกันว่า สาเก บ้าง ขนุนสำมะลอ บ้าง) น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม ฟักทอง และพวกอปรัณณะ เช่น ถั่วเขียว ท่านจัด อนุโลมเข้ากับธัญผล เป็นของต้องห้ามด้วย; จะเห็นว่า มะซางเป็นพืชที่มีข้อจำกัดมากสักหน่อย น้ำดอกมะซางนั้นต้องห้ามเลยทีเดียว ส่วนน้ำผลมะซางจะฉันล้วนๆ ไม่ได้ ต้องผสมน้ำ จึงจะควร ทั้งนี้เพราะกลายเป็นของเมาได้ง่าย

วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ถ้าผลยังดิบ ก็ผ่าฝานหั่นใส่ในน้ำ ให้สุกด้วยแดด ถ้าสุกแล้ว ก็ปอกหรือคว้าน เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้ เว้นแต่ผลมะซางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ ๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสด ห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ ให้เป็นของเย็นหรือสุกด้วยแดด (ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า ในบาลีไม่ได้ห้ามน้ำสุกแม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ) ๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล (ถ้าภิกษุทำ ถือเป็นเหมือนยาวกาลิกเพราะรับประเคนมาทั้งผล) ๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้ (แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง)

ในมหานิทเทส (ขุ.ม.29/742/449) ท่านแสดงปานะ ๘ (อัฏฐบาน) ไว้ ๒ ชุดๆ แรกตรงกับที่เป็นพุทธานุญาตในพระวินัย ส่วนชุดที่ ๒ อันต่างหาก ได้แก่ น้ำ ผลสะคร้อ น้ำผลเล็บเหยี่ยว น้ำผลพุทราปานะทำด้วยเปรียง ปานะน้ำมัน ปานะน้ำยาคู (ยาคุปานะ) ปานะน้ำนม (ปโยปานะ) ปานะน้ำคั้น (รสปานะ), ในพระวินัย เคยมีเรื่องที่พราหมณ์ผู้หนึ่งจัดถวายปโยปานะ คือปานะน้ำนม แก่สงฆ์ (ในเรื่องไม่แจ้งว่าเป็นเวลาใด) และภิกษุทั้งหลายดื่มน้ำนมมีเสียงดัง “สุรุสุรุ”เป็นต้นบัญญัติแห่งเสขิยวัตรสิกขาบทที่ ๕๑ (วินย.2/851/553)