คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ภวังคจิต

จิตที่เป็นองค์แห่งภพ, ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ในเวลาที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ก็เกิดเป็นวิถีจิตขึ้นแทนภวังคจิต เมื่อวิถีจิตดับไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม

ภวังคจิต นี้ คือมโน ที่เป็นอายตนะที่ ๖ หรือมโนทวาร อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต ซึ่งเป็นจิตตามสภาพ หรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ (เป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ)

พุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา” มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่ แต่สภาพเศร้าหมองนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้น การชำระจิตให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้; จิตที่ประภัสสรนี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ ภวังคจิต
เทียบ วิถีจิต