คำศัพท์ :
ภาณยักษ์บทสวดของยักษ์, คำบอกของยักษ์, สวดหรือบอกแบบยักษ์; เป็นคำที่คนไทยเรียก
อาฏานาฏิยสูตร ที่นำมาใช้เป็นบทสวดมนต์ในจำพวกพระปริตร (เป็นพระสูตรขนาดยาวสูตรหนึ่ง นิยมคัดตัดมาเฉพาะตอนที่มีสาระเกี่ยวกับความคุ้มครองป้องกันโดยตรง และเรียกส่วนที่ตัดตอนมาใช้นั้นว่า
อาฏานาฏิยปริตร)
การที่นิยมเรียกชื่อพระสูตรนี้ให้ง่ายว่า “ภาณยักษ์” นั้น เนื่องจากพระสูตรนี้มีเนื้อหาซึ่งเป็นคำกล่าวของยักษ์ คือ ท้าวเวสสวัณ ที่มากราบทูลถวายคำประพันธ์ของพวกตน ที่เรียกว่า “อาฏานาฏิยา รกฺขา” (อาฏานาฏิรักขาหรือ อาฏานาฏิ ยารักข์) แด่พระพุทธเจ้า ดังมีความเป็นมาโดยย่อว่า ยามดึกราตรีหนึ่ง ท้าวมหาราชสี่ (จาตุมหาราช หรือจตุโลกบาล) พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นแล้ว ท้าวเวสสวัณ ในนามของผู้มาเฝ้าทั้งหมด ได้กราบทูลว่า พวกยักษ์ส่วนมากยังทำปาณาติบาต ตลอดจนดื่มสุราเมรัย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้งดเว้นกรรมชั่วเหล่านั้น จึงไม่ชอบใจไม่เลื่อมใส ท้าวมหาราชทรงห่วงใยว่า มีพระสาวกที่ไปอยู่ในป่าดงเงียบห่างไกลอันเปลี่ยวน่ากลัว จึงขอถวายคาถา “อาฏานาฏิยา รกฺขา” ที่ท้าวมหาราชประชุมกันประพันธ์ขึ้น โดยขอให้ทรงรับไว้ เพื่อทำให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้อยู่ผาสุกปลอดจากการถูกเบียดเบียน แล้วท้าวเวสสวัณก็กล่าวคาถาคำอารักขานั้น เริ่มต้นด้วยคำนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสี เป็นต้น ต่อด้วยเรื่องของท้าวมหาราชสี่รายพระองค์ที่พร้อมด้วยโอรสและเหล่าอมนุษย์พากันน้อมวันทาพระพุทธเจ้า คาถาอาฏานาฏิยารักข์นี้เมื่อเรียนไว้แม่นยำดีแล้ว หากอมนุษย์เช่นยักษ์เป็นต้นตนใดมีใจประทุษร้ายมากล้ำกราย อมนุษย์ตนนั้นก็จะถูกต่อต้านและถูกลงโทษโดยพวกอมนุษย์ทั้งหลาย หากตนใดไม่เชื่อฟัง ก็ถือว่าเป็นขบถต่อท้าวมหาราชสี่นั้น กล่าวแล้วก็พากันกราบทูลลากลับไป ครั้นผ่านราตรีนั้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่าอาฏานาฏิยารักข์นั้น กอปรด้วยประโยชน์ในการคุ้มครองรักษาดังกล่าวแล้ว และทรงแนะนำให้เรียนไว้
พึงสังเกตว่า ความในอาฏานาฏิยสูตรนี้ทั้งหมด แยกเป็น ๒ ตอนใหญ่ คือ ตอนแรก เป็นเรื่องของท้าวเวสสวัณและท้าวมหาราชอื่นพร้อมทั้งบริวาร (เรียกง่ายๆ ว่า พวกยักษ์) ที่มาเฝ้าและกราบทูลถวายอาฏานาฏิยารักข์จนจบแล้วกราบลากลับไป ตอนหลัง คือ เมื่อพวกท้าวมหาราชกลับไปแล้ว ผ่านราตรีนั้น ถึงวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องแก่ภิกษุทั้งหลายซ้ำตลอดทั้งหมด พร้อมทั้งทรงแนะนำให้เรียนจำอาฏานาฏิยารักข์เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาพุทธบริษัททั้งสี่
ในพระไตรปิฎกบาลี ท่านเล่าเรื่องและแสดงเนื้อความเต็มทั้งหมดเฉพาะในตอนแรก ส่วนตอนหลัง แสดงไว้เฉพาะพระพุทธดำรัสที่เริ่มตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย และพระดำรัสสรุปท้ายที่ให้เรียนจำอาฏานาฏิยารักข์นั้นไว้ ส่วนเนื้อความที่ทรงเล่าซ้ำ ท่านทำไปยาลใหญ่ (ฯเปฯ คือ ฯลฯ) แล้วข้ามไปเลย ตอนหลังนั้นจึงสั้นนิดเดียว
แต่ในหนังสือสวดมนต์แบบค่อนข้างพิสดารสมัยก่อน ที่เรียกว่าแบบ “จตุภาณวาร” ท่านนำอาฏานาฏิยสูตรมารวมเข้าในชุดบทสวดมนต์นั้นด้วย โดยบรรจุลงไปเต็มทั้งสูตร และไม่ใส่ไปยาลเลย ทำให้บทสวดนี้ยาวมาก (ในพระไตรปิฎก สูตรนี้ยาวประมาณ ๑๓ หน้า แต่ในประมวลบทสวดจตุภาณวาร ยาว ๒๔ หน้า) และท่านได้แยก ๒ ตอนนั้นออก โดยแบ่งพระสูตรนี้เป็น ๒ ภาค คือ ปุพพภาค กับ ปัจฉิมภาค ยาวเท่ากัน, ปุพพภาคคือตอนแรกที่เป็นคำของยักษ์กราบทูลถวายอาฏานาฏิยารักข์ เรียกว่า ยักขภาณวาร ส่วนปัจฉิมภาคคือตอนหลังที่เป็นพระพุทธดำรัสตรัสเล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า พุทธภาณวาร นี้คือที่คนไทยเรียกให้สะดวกปากของตนว่า ภาณยักษ์ และภาณพระ ตามลำดับ โดยนัยนี้ เมื่อจะเรียกให้ถูกต้อง อาฏานาฏิยสูตรจึงมิใช่เป็นภาณยักษ์เท่านั้น แต่ต้องพูดให้เต็มว่ามี “ภาณยักษ์” กับ “ภาณพระ”
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ คือในช่วงตรุษ-สงกรานต์ (ปรับเข้ากับปฏิทินสากลเป็นขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน) ในพระบรมมหาราชวังเคยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดภาณยักษ์ในวันสิ้นปีเก่าตลอดคืนจนรุ่ง โดยสวดทำนองขู่ตวาดภูตผีปีศาจด้วยเสียงโฮกฮากดุดันบ้าง แห้งแหบโหยหวนบ้าง และในสมัย ร.๕ โปรดฯ ให้นิมนต์พระอีกสำรับหนึ่งสวดภาณพระ ด้วยทำนองสรภัญญะที่ไพเราะชื่นใจขึ้นเป็นคู่กัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาราษฎร์ ว่าได้ขับไล่ภัยอันตรายสิ่งร้าย และอวยพรชัยสิริมงคลในกาลเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนปี
[“จตุภาณวาร” เป็นประมวลบทสวดมนต์ของโบราณแบบหนึ่ง (นำมาจัดพิมพ์รวมไว้ด้วย ในหนังสือสวดมนต์ ฉบับหลวง ยาวประมาณ ๕๓ หน้า) ประกอบด้วยบทสวด ๒๒ อย่าง (ท่านใช้คำว่า ธรรมประเภท ๒๒ ภาค) จัดเป็น ๔ ภาณวาร คือ ปฐมภาณวาร (ภาณต้น) มี ๑๖ ธรรมประเภท ได้แก่ ติสรณคมนปาฐะ ทสสิกขาปทปาฐะ สามเณรปัญหปาฐะ ทวัตติงสาการปาฐะ ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ ทสธัมมสุตตปาฐะ มังคลสุตตปาฐะ รตนสุตตปาฐะ กรณียเมตตสุตตปาฐะ อหิราชสุตตปาฐะ เมตตานิสังสสุตตปาฐะ เมตตานิสังสคาถาปาฐะ โมรปริตตปาฐะ จันทปริตตปาฐะ สุริยปริตตปาฐะ และธชัคคสุตตปาฐะ ทุติยภาณวาร (ภาณวารที่ ๒) มีโพชฌังคสูตรทั้ง ๓ คือ มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ และมหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ ตติยภาณวาร (ภาณวารที่ ๓) มี ๒ พระสูตร คือ คิริมานันทสุตตปาฐะ และอิสิคิลิสุตตปาฐะ จตุตถภาณวาร (ภาณวารที่ ๔) ได้แก่ อาฏานาฏิยสุตตปาฐะ ที่แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ปุพพภาค ซึ่งในหนังสือที่พิมพ์ เรียกว่า “ยกฺขภาควาร” และปัจฉิมภาค เรียกว่า “พุทฺธภาควาร” (น่าจะเป็น “ยกฺขภาณวาร” คือภาณยักษ์ และ “พุทฺธภาณวาร” คือภาณพระ ทั้งนี้ จะต้องสืบค้นตรวจสอบหลักฐานต่อไป)]
ดู ปริตร