คำศัพท์ :
สรภัญญะ[สะ-ระ-พัน-ยะ, สอ-ระ-พัน-ยะ] "การกล่าว[ธรรม] ด้วยเสียง" (หรือ"[ธรรม] อันพึงกล่าวด้วยเสียง") คือ ใช้เสียงเป็นเครื่องกล่าวหรือบอกธรรม หมายความว่า แทนที่จะกล่าวบรรยายอธิบายธรรมด้วยถ้อยคำ อย่างที่เรียกว่า "ธรรมกถา" ก็เอาเสียงที่ตั้งใจเปล่งออกไปอย่างประณีตบรรจง ด้วยจิตเมตตา และเคารพธรรม อันชัดเจนเรียบรื่น กลมกลืน สม่ำเสมอ เป็นทำนองไพเราะ นุ่มนวล ชวนฟัง มาเป็นสื่อ เพื่อนำธรรมที่มีอยู่เป็นหลัก หรือที่เรียบเรียงไว้ดีแล้ว ออกไปให้ถึงใจของผู้สดับ, สรภัญญะเป็นวิธีกล่าวธรรมเป็นทำนองให้มีเสียงไพเราะน่าฟังในระดับที่เหมาะสม ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย ตามเรื่องว่า (วินย.
7/19-21/8-9) ครั้งหนึ่ง ที่เมืองราชคฤห์ มีมหรสพบนยอดเขา (คิรัคคสมัชชะ) พวกพระฉัพพัคคีย์ไปเที่ยวดู ชาวบ้านติเตียนว่าไฉนพระสมณะศากยบุตรจึงได้ไปดูการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรีเหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม เมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงประชุมสงฆ์ และบัญญัติสิกขาบทมิให้ภิกษุไปดูการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี, อีกคราวหนึ่ง พวกพระฉัพพัคคีย์นั้น สวดธรรมด้วยเสียงเอื้อนยาวอย่างเพลงขับ ชาวบ้านติเตียนว่าไฉนพระสมณะศากยบุตรเหล่านี้จึงสวดธรรมด้วยเสียงเอื้อนยาวเป็นเพลงขับเหมือนกับพวกเรา ความทรงถึงพระพุทธเจ้า ก็ทรงประชุมสงฆ์ชี้แจงโทษของการสวดเช่นนั้น และได้ทรงบัญญัติมิให้ภิกษุสวดธรรมด้วยเสียงเอื้อนยาวอย่างเพลงขับ, ต่อมา ภิกษุทั้งหลายขัดจิตข้องใจในสรภัญญะ จึงกราบทูลความแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสรภัญญะ" (
อนุชานามิ ภิกฺขเว สรภญฺญํ.)
มีเรื่องราวมากหลายที่แสดงว่าสรภัญญะนี้เป็นที่นิยมในพุทธบริษัท ดังตัวอย่างเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าว่า (วินย.5/20/33; ขุ.อุ.25/122/165) เมื่อครั้งพระโสณะกุฏิกัณณะ ชาวถิ่นไกลชายแดนในอวันตีทักขิณาบถ เพิ่งบวชได้ ๑ พรรษา ก็ลาพระอุปัชฌาย์เดินทางมาเฝ้าที่พระเชตวนารามในกรุงสาวัตถี พอผ่านราตรีแรกได้พักผ่อนมาจนตื่น ใกล้รุ่งสว่าง พระพุทธเจ้าตรัสให้เธอกล่าวธรรมตามถนัด (ดังจะทรงดูว่าเธอได้ศึกษาเล่าเรียนมีความรู้มาเพียงใด) พระโสณะกุฏิกัณณะได้กล่าวพระสูตรทั้งหมดในอัฏฐกวัคค์ (๑๖ สูตร, ขุ.สุ.25/408-423/484-523) เป็นสรภัญญะ จบแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาประทานสาธุการว่า เธอได้เรียนมาอย่างดีีเจนใจเป็นอย่างดี และทรงเนื้อความไว้ถูกถ้วนดี อีกทั้งเป็นผู้มีวาจางามสละสลวย คล่อง ไม่พลาด ทำอัตถะให้แจ่มแจ้ง, ในคัมภีร์บางแห่งกล่าวว่า สรภัญญะมีวิธีหรือทำนองสวดถึง ๓๒ แบบ จะเลือกแบบใดก็ได้ตามปรารถนา (อง.ฏี.๓/๔๒๑/๙๕) แต่สรภัญญะนี้มิใช่การสวดเอื้อนเสียงยาวอย่างเพลงขับ (อายตกะคีตสร) ที่ทำเสียงยาวเกินไปจนทำให้อักขระเสีย คือผิดพลาดไป สรภัญญะมีลักษณะสำคัญที่ว่า ต้องไม่ทำให้อักขระผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่ให้บทและพยัญชนะกลมกล่อม ว่าตรงลงตัว ไม่คลุมเครือ ไพเราะ แต่ไม่มีวิการ (อาการผิดแปลกหรือไม่เหมาะสม) ดำรงสมณสารูป
โดยนัยที่กล่าวมา จึงถือว่าสรภัญญะเป็นวิธีแสดงและศึกษาหรือสอนธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพิ่มจากวิธีอื่น เช่น ธรรมกถา และการถามตอบปัญหา, บางทีก็พูดอย่างกว้างๆ รวมสรภัญญะเข้าเป็นธรรมกถาอย่างหนึ่ง ดังที่คัมภีร์ยุคหลังๆ บางแห่งบันทึกไว้ถึงธรรมกถา ๒ แบบ คือ แบบที่ ๑ ภิกษุรูปแรกสวดตัวคาถาหรือพระสูตรเป็นสรภัญญะให้จบไปก่อน แล้วอีกรูปหนึ่งเป็นธรรมกถึกกล่าวธรรมอธิบายคาถาหรือพระสูตรที่รูปแรกสวดไปแล้วนั้นให้พิสดาร แบบนี้เรียกว่า สรภาณธรรมกถา และแบบที่ ๒ สวดพระสูตรเป็นต้นนั้นไปอย่างเดียวตลอดแต่ต้นจนจบ เรียกว่า สรภัญญธรรมกถา (สํ.ฏี.๑/๓๙/๘๙) สรภัญญะนี้ เมื่อปฏิบัติโดยชอบ ตั้งเจตนากอปรด้วยเมตตา มีความเคารพธรรม กล่าวออกมา ก็เป็นทั้งธรรมทานและเป็นสัทททาน (ให้ทานด้วยเสียงหรือให้เสียงเป็นทาน) พร้อมทั้งเป็นเมตตาวจีกรรม)
ในภาษาไทย เรียกทำนองอย่างที่สืบกันมาในการสวดคาถาหรือคำฉันท์ว่า "สรภัญญะ" คือ สรภัญญะกลายเป็นชื่อของทำนองหนึ่งที่ใช้ในการสวดสรภัญญะ