คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : สังคายนา

"การสวดพร้อมกัน" การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยพร้อมกันทบทวนสอบทานจนยอมรับและวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว

"สังคายนา" คือ การสวดพร้อมกัน เป็นกิริยาแห่งการมาร่วมกันซักซ้อมสอบทานให้ลงกันแล้วสวดพร้อมกันคือตกลงยอมรับไว้ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ตามหลักในปาสาทิกสูตร (ที.ปา.11/108/139) ที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำแก่ท่านพระจุนทะ กล่าวคือ ท่านพระจุนทะปรารภเรื่องที่นิครนถนาฏบุตรสิ้นชีพแล้ว ประดานิครนถ์ตกลงในเรื่องหลักคำสอนกันไม่ได้ ก็ทะเลาะวิวาทกัน ท่านคำนึงถึงพระศาสนา จึงมาเฝ้า และพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "เพราะเหตุดังนี้นั่นแลจุนทะ ในธรรมทั้งหลายที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง เธอทั้งหมดทีเดียวพึงพร้อมเพรียงกันประชุมรวบรวมกล่าวให้ลงกัน (สังคายนา) ทั้งอรรถะกับอรรถะ ทั้งพยัญชนะกับพยัญชนะ ไม่พึงวิวาทกัน โดยประการท่ี่พรหมจริยะนี้จะยั่งยืน ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน เพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย" และในที่นั้น ได้ตรัสว่าธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง หมายถึงธรรม ๗ หมวด (ที่มีชื่อรวมว่าโพธิปักขิยธรรม ๓๗), ในเวลาใกล้กันนั้น เมื่อพระสารีบุตรได้รับพุทธดำรัสมอบหมายให้แสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ในที่เฉพาะพระพักตร์ ท่านก็ปรารภเรื่องที่นิครนถนาฏบุตรสิ้นชีพแล้ว ประดานิครนถ์ทะเลาะวิวาทกันในเรื่องหลักคำสอน แล้วท่านได้แนะนำให้สังคายนา พร้อมทั้งทำเป็นตัวอย่าง โดยประมวลธรรมมาลำดับแสดงเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐ เทศนาของพระสารีบุตรครั้งนี้ได้ชื่อว่า "สังคีติสูตร" (ที.ปา.11/221/222) เป็นพระสูตรว่าด้วยการสังคายนาที่ทำตั้งแต่พระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่, เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะผู้เป็นสังฆเถระ ก็ได้ชักชวนพระอรหันต์ทั้งหลายประชุมกันทำสังคายนาตามหลักการที่กล่าวมานั้น โดยประมวลพระธรรมวินัยทั้งหมดเท่าที่รวบรวมได้วางลงไว้เป็นแบบแผน ตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เรียกว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๑

ความหมายที่เป็นแกนของสังคายนาคือการรวบรวมพุทธพจน์ หรือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ดังนั้น สังคายนาที่เต็มตามความหมายแท้จริง จึงมีได้ต่อเมื่อมีพุทธพจน์ที่จะพึงรวบรวม อันได้แก่สังคายนาเท่าที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนการสังคายนาหลังจากนั้น ซึ่งจัดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานอย่างน้อย ๑ ศตวรรษ ชัดเจนว่าไม่อยู่ในวิสัยแห่งการรวบรวมพุทธพจน์ แต่เปลี่ยนจุดเน้นมาอยู่ที่การรักษาพุทธพจน์และคำสั่งสอนเดิมที่ได้รวบรวมไว้แล้ว อันสืบทอดมาถึงตน ให้คงอยู่บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนั้น สังคายนาในยุคหลังสืบมาถึงปัจจุบัน จึงมีความหมายว่าเป็นการประชุมตรวจชำระสอบทาน รักษาพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์ หมดจดจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยกำจัดสิ่งปะปนแปลกปลอมหรือทำให้เข้าใจสับสนออกไป ให้ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าคงอยู่เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวที่เป็นของแท้แต่เดิม; ในบางยุคสมัย การสังคายนาเกิดขึ้นเนื่องกันกับเหตุการณ์ไม่ปกติที่มีการถือผิดปฏิบัติผิดจากพระธรรมวินัย ทำให้การสังคายนาเสมือนมีความหมายซ้อนเพิ่มขึ้นว่าเป็นการซักซ้อมทบทวนสอบทานพระธรรมวินัยเพื่อจะได้เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานในการชำระสังฆมณฑลและสะสางกิจการพระศาสนา, จากความหมายที่เริ่มคลุมเครือสับสนนี้ ในภาษาไทยปัจจุบัน สังคายนาถึงกับเพี้ยนความหมายไป กลายเป็นการชำระสะสางบุคคลหรือกิจการ

สังคายนาในยุคต้น ซึ่งถือเป็นสำคัญในการรักษาสืบทอดพระธรรมวินัย คือ ครั้งที่ ๑ ถึง ๕ ดังนี้;

ครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและปรารภที่จะทำให้ธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไป พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถามพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวนได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนาประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์มากมายปลอมบวชในพระศาสดาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการามเมืองปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ (พ.ศ. ๒๑๘ เป็นปีที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์) โดยพระเจ้าอโศก หรือศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๔ ปรารภให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้า กุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี) โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก์; บางคัมภีร์ว่า สังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นในความคุ้มครองของคนที่เป็นใหญ่ในท้องถิ่น (ครั้งที่ ๔ ได้รับความยอมรับในแง่เหตุการณ์น้อยกว่าครั้งที่ ๕)