คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ภาณวาร

“วาระแห่งการสวด”, ข้อความในคัมภีร์ต่างๆ เช่น ในพระสูตรขนาดยาวที่ท่านจัดแบ่งไว้เป็นหมวดหนึ่งๆ สำหรับสาธยายเป็นคราวๆ หรือเป็นตอนๆ

แม้ว่าการนับจำนวนภาณวารจะไม่เป็นมาตราที่ลงตัวเด็ดขาด แต่ก็มีหลักตามที่ท่านคำนวณไว้และถือกันมา ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ว่า (เช่น สทฺทนีติ.ธาตุมาลา ฉบับอักษรพม่า หน้า ๖๐) “๘ อักขระ เป็น ๑ บท (บาทคาถา), ๔ บท เป็น ๑ คาถา ซึ่งถือเป็น ๑ คันถะ คือเท่ากับ ๓๒ อักขระ, ๒๕๐ คันถะ (๒๕๐ คาถา) เป็น ๑ ภาณวาร คือเท่ากับ ๘,๐๐๐ อักขระ” (อักขระ ในที่นี้ คือหน่วยออกเสียงครั้งหนึ่ง ตรงกับ ‘พยางค์’ ในภาษาไทย จึงเป็น ๘,๐๐๐ พยางค์; จะเห็นว่า เมื่อถือ ๒๕๐ คาถาเป็น ๑ ภาณวาร จำนวนอักขระจะไม่แน่ลงไปอย่างเดียว เพราะบาทคาถามิใช่มีแต่ ๘ อักขระ ที่มี ๙ หรือ ๑๒ อักขระ เป็นต้น ก็มี)

พระไตรปิฎกบาลี ที่ได้ประมวลไว้และสืบกันมา โดยผ่านการสังคายนาและความทรงจำนั้น อาศัยการสาธยายเป็นวิธีดำรงรักษาที่สำคัญ ดังที่ท่านบันทึกการจัดแบ่งพระไตรปิฎกไว้เป็นภาณวาร (เช่น ที.อ.๑/๐/๑๒) เช่น ใน พระวินัยปิฎก อุภโตวิภังค์ (มหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์) มี ๖๔ ภาณวาร ขันธกะ ๘๐ ภาณวาร ปริวาร ๒๕ ภาณวาร, ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มี ๖๔ ภาณวาร มัชฌิมนิกาย ๘๐ ภาณวาร สังยุตตนิกาย ๑๐๐ ภาณวาร อังคุตตรนิกาย ๑๒๐ ภาณวาร (ขุททกนิกาย ประกอบด้วยคัมภีร์ปลีกย่อยเป็นอันมาก ท่านไม่ได้จาระไนตัวเลขไว้ ส่วนพระอภิธรรมปิฎก แต่ละคัมภีร์มีการสาธยายทำนองบอกหนังสือ กับการแจกแจงอย่างพิสดาร ซึ่งต่างกันมากมาย ท่านจึงบอกไว้เพียงคร่าวๆ)