คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : ภาวนา

การทำให้มีให้เป็น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ, การพัฒนา

1. สำหรับพระภิกษุ และบุคคลที่ดำเนินชีวิตดีงาม มีพื้นฐานในระดับศีลแล้ว โดยทั่วไปพูดกันถึงการฝึกอบรม หรือการเจริญพัฒนาที่มุ่งหน้าต่อไป คือ ภาวนา ๒ ได้แก่ ๑. สมถภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้อยู่กับความดีงามเกิดความแน่วสงบ, การเจริญพัฒนาจิตใจให้งอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุข ผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ ๒. วิปัสสนาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งชัดตามเป็นจริง, การเจริญพัฒนาปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์; ภาวนา ๒ ที่กล่าวนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ๑. จิตตภาวนา (=สมถภาวนา) ๒. ปัญญาภาวนา (=วิปัสสนาภาวนา); ดู กัมมัฏฐาน

2. ภาวนา คือการฝึกอบรมพัฒนามนุษย์ ที่เต็มระบบครบกระบวนตลอดทั้งชีวิต ทุกส่วนทุกด้านทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นจนจบสมบูรณ์ ได้แก่ ภาวนา ๔ คือ ๑. กายภาวนา การพัฒนาเบ็ญจทวารกาย อันเป็นด้านผัสสทวาร คืออินทรีย์ ๕ ให้รับรู้ดูฟังเป็นต้นอย่างมีสติได้ปัญญา ให้ติดต่อสัมพันธ์กับโลก คือสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลและก่อกุศล ๒. ศีลภาวนา การพัฒนาด้านกรรมทวาร คือการใช้กายวาจาในการอยู่ร่วมโลกร่วมสังคม โดยประพฤติปฏิบัติมีพฤติกรรมกระทำการอันไม่เบียดเบียน แต่สร้างสรรค์เกื้อกูล ๓. จิตตภาวนา การพัฒนาจิตใจให้งอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน ผ่องใส สงบสุข พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ ๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา ให้รู้เข้าใจมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงเท่าทันสภาวะและเหตุปัจจัย รู้จักคิดรู้จักใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา จัดทำดำเนินการทั้งหลายให้เกิดผลดี โดยข้างในมีจิตใจเป็นอิสระเสรี พ้นจากอำนาจของกิเลสและความทุกข์

บุคคลที่พัฒนาแล้ว เป็นภาวิต ทั้ง ๔ ด้าน คือเป็น ภาวิตกาย (มีกายที่พัฒนาแล้ว) ภาวิตศีล (มีศีลที่พัฒนาแล้ว) ภาวิตจิต (มีจิตที่พัฒนาแล้ว) ภาวิตปัญญา (มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว) จึงเป็นผู้จบการศึกษา (อเสขะ-ผู้ไม่ต้องศึกษา) เรียกว่าพระอรหันต์ ดังมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ (ขุ.จู.30/148/71; คำอธิบายพอเห็นหลัก พึงดู เถร.อ.๑/๑๐; เนตติ.อ.ฉบับอักษรพม่า, ๑๕๕)

3. การเจริญสมถกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาธิ มี ๓ ขั้น คือ ๑. บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐาน ๒. อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ ๓. อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ เกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาน

4. ในภาษาไทย ความหมายเลือนมาเป็นการท่องบ่นหรือว่าซ้ำๆ ให้ขลัง ก็มี

*ประเด็นที่ ผิดพลาด คลาดเคลื่อน เพี้ยน สับสน คลุมเครือ
ภาวนา นั้น จะต้องแยกจากภาวนาในภาษาไทยก่อน คือ ไม่ใช่เป็นเพียงว่ามามุบมิบๆ แต่ปาก แล้วบอกว่าเป็นภาวนา หรือเอาถ้อยคำในภาษาพระ เอามนต์เอาคาถามาท่องมาบ่นแล้วว่าเป็นภาวนา ไม่ใช่อย่างนั้น ภาวนา แปลว่า ทำให้เกิดให้มีขึ้น ทำให้เป็นขึ้น สิ่งที่ยังไม่เป็นก็ทำให้มันเป็น สิ่งที่ยังไม่มีก็ทำให้มันมีขึ้น เรียกว่าภาวนา เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติ ฝึกหัด หรือลงมือทำ ....