คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : จริต

ความประพฤติ; บุคคลผู้มีพื้นนิสัยหรือพื้นเพจิตใจที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไป จำแนกเป็น ๖ ตาม จริยา ๖ คือ ๑. ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ) ๒. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด) ๓. โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึมงมงาย) ๔. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ) ๕. พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา) ๖. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน), ในการที่จะเจริญกรรมฐาน ท่านแนะนำให้เลือกกรรมฐานให้เหมาะหรือเข้ากับจริต โดยสอดคล้องกับจริยาของเรา (จริยากูล)

ในการเจริญวิปัสสนา บางครั้งท่านกล่าวถึงจริต ๒ คือ ตัณหาจริต (ผู้มีพื้นจิตหนักไปทางตัณหา) และทิฏฐิจริต (ผู้มีพื้นจิตหนักไปทางทิฏฐิ) โดยโยงไปถึงหลักสติปัฏฐานว่า สติปัฏฐานที่มี ๔ ข้อนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ไม่ขาด ไม่เกิน เพื่อให้เกื้อกูลเหมาะกันกับคน ๔ จำพวก คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบ เป็นวิสุทธิมรรค (ทางแห่งวิสุทธิ) สำหรับเวไนยสัตว์ตัณหาจริต ที่มีปัญญาเฉื่อย เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์ละเอียด เป็นวิสุทธิมรรค สำหรับเวไนยสัตว์ตัณหาจริต ที่มีปัญญาเฉียบ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์แตกประเภทไม่มากนัก เป็นวิสุทธิมรรค สำหรับเวไนยสัตว์ทิฏฐิจริต ที่มีปัญญาเฉื่อย ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์แตกประเภทมากยิ่ง เป็นวิสุทธิมรรค สำหรับเวไนยสัตว์ทิฏฐิจริต ที่มีปัญญาเฉียบ, นอกจากนี้ ท่านนำเรื่องตัณหาจริต และทิฏฐิจริตไปใช้อธิบายหลักอื่นๆ อีกมาก เช่น ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทว่า อวิชชาเป็นสังสารนายิกา (ตัวนำสังสาระ) สำหรับคนทิฏฐิจริต ส่วนตัณหาเป็นสังสารนายิกา สำหรับคนตัณหาจริต แม้ถึงหลักอริยสัจจ์ ๔ ก็ว่า พระพุทธเจ้าตรัสโดยสัมพันธ์กับเรื่องตัณหาจริตและทิฏฐิจริตนี้
ดู จริยา