คำศัพท์ :
ภิกษุณีสงฆ์หมู่แห่งภิกษุณี, ประดาภิกษุณีทั้งหมดกล่าวโดยส่วนรวมหรือโดยฐานเป็นชุมนุมหนึ่ง, ภิกษุณีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ประชุมกันเนื่องในกิจพิธี; ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๕ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจโดยมี
พระมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระภิกษุณีรูปแรก ดังเรื่องปรากฏในภิกขุนีขันธกะและในอรรถกถา สรุปได้ความว่าหลังจากพระเจ้าสุทโธทนะปรินิพพานแล้ว วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธารามในเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไปเฝ้า และทูลขออนุญาตให้สตรีสละเรือนออกบวชในพระธรรมวินัย แต่การณ์นั้นมิใช่ง่าย พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีไม่ละความพยายามถึงกับปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะเอง ออกเดินทางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะจำนวนมาก (อรรถกถาว่า ๕๐๐ นาง) ไปยังเมืองเวสาลี และได้มายืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มประตูนอกกูฏาคารศาลา พระบาทบวม พระวรกายเปรอะเปื้อนธุลี พระอานนท์มาพบเข้า สอบถามทราบความแล้วรีบช่วยไปกราบทูลขออนุญาตให้ แต่เมื่อพระอานนท์กราบทูลต่อพระพุทธเจ้าก็ถูกพระองค์ตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดพระอานนท์เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยกราบทูลถามว่าสตรีออกบวชในพระธรรมวินัยแล้วจะสามารถบรรลุโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตตผลได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าได้ พระอานนท์จึงอ้างเหตุผลนั้น พร้อมทั้งการที่พระนางมหาปชาบดีเป็นพระมาตุจฉาและเป็นพระมารดาเลี้ยง มีอุปการะมากต่อพระองค์ แล้วขอให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกบวช พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าพระนางจะต้องรับปฏิบัติตาม
ครุธรรม ๘ ประการ พระนางยอมรับตามพุทธานุญาตที่ให้ถือว่า การรับครุธรรมนั้นเป็นการอุปสมบทของพระนาง ส่วนเจ้าหญิงศากยะที่ตามมาทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้ ในคราวนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่าการให้สตรีบวชจะเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ คือพระศาสนา หรือสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่ยั่งยืน จะมีอายุสั้นเข้า เปรียบเหมือนตระกูลที่มีบุรุษน้อยมีสตรีมาก ถูกผู้ร้ายทำลายได้ง่าย หรือเหมือนนาข้าวที่มีหนอนขยอกลง หรือเหมือนไร่อ้อยที่มีเพลี้ยลง ย่อมอยู่ได้ไม่ยืนนาน พระองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการกำกับไว้ก็เพื่อเป็นหลักคุ้มกันพระศาสนา เหมือนสร้างคันกั้นสระใหญ่ไว้ก่อนเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลท้นออกไป (พระศาสนาจักอยู่ได้ยั่งยืนเช่นเดิม) และได้ทรงแสดงเหตุผลที่ไม่ให้ภิกษุไหว้ภิกษุณี ให้ภิกษุณีไหว้ภิกษุได้ฝ่ายเดียว เพราะนักบวชในลัทธิศาสนาอื่นทั้งหลายไม่มีใครไหว้สตรีกันเลย กล่าวโดยสรุปว่า หากถือเหตุผลทางด้านสภาพสังคม–ศาสนาแล้ว จะไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ด้วยเหตุผลในด้านความสามารถโดยธรรมชาติ จึงทรงยอมให้สตรีบวชได้ เมื่อภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว สตรีที่จะบวชต่อมาต้องเป็น
สิกขมานา รักษาสิกขาบท ๖ (คือ ๖ ข้อแรกในศีล ๑๐) ไม่ให้ขาดเลยตลอด ๒ ปีก่อน จึงขออุปสมบทได้ และต้องรับการอุปสมบทโดยสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือบวชโดยภิกษุณีสงฆ์แล้ว ต้องบวชโดยภิกษุสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง เมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว ต้องรักษาสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ (ศีล ๓๑๑) ภิกษุณีสงฆ์เจริญแพร่หลายในชมพูทวีปอยู่ช้านาน เป็นแหล่งให้การศึกษาแหล่งใหญ่แก่สตรีทั้งหลาย
ภิกษุณีสงฆ์ประดิษฐานในลังกาทวีปในรัชกาลของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ โดยพระสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางจากชมพูทวีปมาประกอบอุปสมบทกรรมแก่พระนางอนุฬาเทวี ชายาของเจ้ามหานาค อนุชาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พร้อมด้วยสตรีอื่นอีก ๑ พันคน ภิกษุณีสงฆ์เจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปยาวนานไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ปี แต่ในที่สุดได้สูญสิ้นไป ด้วยเหตุใดและกาลใดไม่ปรากฏชัด
ส่วนในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เคยมีภิกษุณีสงฆ์ แม้ว่าในการที่พระโสณะ และพระอุตตระมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ จะมีเรื่องเล่าที่ทำให้ฉงนและชวนให้ตีความกัน ก็เป็นการเล่าอย่างตำนานเพียงสั้นๆ แบบที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่า (วินย.อ.๑/๖๘) ที่นั่นมีนางผีเสื้อน้ำซึ่งเมื่อมีทารกเกิดในราชสกุลเมื่อใด ก็จะขึ้นมาจากทะเลและจับทารกกินเสีย เมื่อพระเถระทั้งสองไปถึงนั้น ก็พอดีมีทารกเกิดในราชสกุลคนหนึ่ง เมื่อนางผีเสื้อน้ำและบริวารขึ้นมาจากทะเล พระเถระได้เนรมิตร่างที่ใหญ่โตเป็นสองเท่าของพวกรากษสขึ้นมาจำนวนหนึ่งเข้าล้อมพวกรากษสไว้ ทำให้พวกรากษสกลัวพากันหนีไป แล้วพระเถระก็แสดงธรรมแก่มหาชน มีคนบรรลุธรรมถึงหกหมื่นคน มีกุลทารก ๓๕๐๐ คนและกุลธิดา ๑๕๐๐ คน บรรพชา (น่าสังเกตท่านใช้คำว่า “กุลทารก”) เป็นอันว่า พระโสณกเถระได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิแล้วอย่างนี้ เรื่องที่เล่านี้แตกต่างมากจากเรื่องการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ซึ่งแม้จะมีเรื่องอัศจรรย์แทรกอยู่ไม่น้อย แต่มีความเป็นมาของเรื่องเป็นลำดับนับว่าชัดเจน เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชาวเกาะลังกานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระนางอนุฬาเทวีต้องการจะผนวช (วินย.อ.๑/๙๑) และทูลแจ้งแก่พระราชา พระองค์ได้ตรัสขอให้พระมหินทเถระบวชให้แก่พระเทวีนั้น แต่พระเถระได้ถวายพระพรว่า ท่านจะบรรพชาให้แก่สตรี เป็นการไม่สมควร และได้ชี้แจงให้พระราชานิมนต์พระสังฆมิตตาเถรีมาบวชให้ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะแห่งลังกาทวีปจึงได้ทรงส่งสาส์นไปนิมนต์พระภิกษุณีสังฆมิตตาเถรีเดินทางจากชมพูทวีปพร้อมด้วยกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มายังลังกาทวีป และประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ขึ้นในดินแดนนั้น แล้วก็มีเรื่องสืบต่อมาอีกยาว แต่ในด้านสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หลังจากเรื่องเล่าที่ไม่ชัดข้างต้นนั้นแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานว่าเคยมีภิกษุณีหรือสามเณรีแต่อย่างใด