คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : มานะ

1.ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่, เป็นอุทธัมภาคิยสังโยชน์คือ สังโยชน์เบื้องสูง พระอรหันต์จึงละได้ (ข้อ ๘ ในสังโยชน์ ๑๐, ข้อ ๓ ในสังโยชน์ ๑๐ ตามนัยพระอภิธรรม, ข้อ๕ ในอนุสัย ๗, ข้อ ๑๓ ในอุปกิเลส ๑๖, ข้อ ๒ ในปปัญจะ ๓)

มานะนี้ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้มากหลายชุด มีตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐, อย่างน้อยพึงทราบ มานะ ๓ ที่ตรัสไว้ด้วยกันกับ ตัณหา ๓ (องฺ.ฉกฺก.22/377/494) คือ ๑. มานะ ความถือตัวอยู่ภายใน โดยมีตัวตนที่ต้องคอยให้ความสำคัญ ที่จะพะนอจะบำเรอจะยกจะชูให้ปรากฏหรือให้เด่นขึ้นไว้ อันให้คำนึงที่จะแบ่งแยกเราเขา จะเทียบ จะแข่ง จะรู้สึกกระทบกระทั่ง ๒. อติมานะ ความถือตัวเกินล่วง โดยสำคัญตนหยาบรุนแรงขึ้นเป็นความยกตัวเหนือเขา ดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น ๓. โอมานะ ความถือตัวต่ำด้อย โดยเหยียดตัวลงเป็นความดูถูกดูหมิ่นตนเอง, มานะ ๓ นี้ พึงทราบความหมายอย่างสั้นๆ ตามที่แสดงในมหานิทเทส (ขุ.ม.29/357/236) ว่า “มานะ ว่า ‘เราเท่ากับเขา’ อติมานะ ว่า‘เราดีกว่าเขา’ โอมานะ ว่า ‘เราเลวกว่าเขา’ ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ในพระอรหันตขีณาสพ…”

มานะ ๙ ซึ่งมีการอ้างอิงบ่อยๆ (เช่นขุ.ม.29/102/94) ได้แก่ ๑. ดีกว่าเขาสำคัญตัวว่าดีกว่าเขา ๒. ดีกว่าเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา ๓. ดีกว่าเขาสำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ๔. เสมอเขา สำคัญตัวว่าดีกว่าเขา ๕. เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา ๖. เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ๗. เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าดีกว่าเขา ๘. เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา ๙. เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา; ข้อ ๑, ๕ และ ๙ เป็นการมองตรงกับที่เป็นจริง แต่ก็ยังเป็นการถือตัวเป็นกิเลสอย่างประณีต ซึ่งพระอรหันต์จึงละได้ ส่วนอีก ๖ ข้อ เป็นการถือตัวโดยมองไม่ตรงกับที่เป็นจริง เป็นกิเลสที่หยาบกว่า ขั้นพระโสดาบันก็ละหมดแล้ว

มานะชื่ออื่นที่ควรทราบ คือ อธิมานะ ความสำคัญตนเกินเป็นจริง ความสำคัญตนผิด เช่น ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในระดับหนึ่ง ซึ่งที่แท้ยังเป็นปุถุชน แต่สำคัญตนเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระอริยะ, อัสมิมานะ ความถือตัวโดยมีความยึดมั่นสำคัญหมายในขันธ์ ๕ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตน, มิจฉามานะ ความถือตัวผิด โดยหยิ่งผยองลำพองตนในความยึดถือหรือความสามารถในทางชั่วร้าย เช่น ภูมิใจว่าพูดเท็จเก่งใครๆ จับไม่ได้ ลำพองว่าสามารถใช้วิชาของตนในทางที่คนอื่นรู้ไม่ทันเพื่อหากินหรือกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นได้, อวมานะ การถือตัวกดเขาลง ซึ่งแสดงออกภายนอก โดยอาการลบหลู่ ไม่ให้เกียรติ ทำให้อับอายขายหน้า ไม่แยแส ไร้อาทร เช่น ผู้มีกำลังอำนาจที่ทำการขู่ตะคอก ลูกที่เมินเฉยต่อพ่อแม่ เป็นคู่ตรงข้ามกับคำในฝ่ายดีคือ สัมมานะ อันได้แก่การนับถือยกย่อง ให้เกียรติแก่ผู้มีคุณความดีโดยเหมาะสมอย่างจริงใจ

มานะเป็นกิเลสเด่นนำเนื่องกันและคู่กันกับตัณหา เป็นแรงขับดันให้ปุถุชนทำการต่างๆ ก่อความขัดแย้ง ปัญหาและทุกข์นานา แม้หากรู้จักใช้ จะปลุกเร้าให้เบนมาเพียรพยายามทำความดีได้ก็แฝงปัญหาและไม่ปลอดทุกข์ จึงต้องมีการศึกษา เริ่มแต่ฝึกวินัยให้มีศีลที่จะควบคุมพฤติกรรมไว้ในขอบเขตแห่ง ความสงบเรียบร้อยไม่เบียดเบียนกันแล้วพัฒนาจิตปัญญา ให้เจริญฉันทะขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนแทนที่ตัณหาและมานะ เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ถึงจะยังมีมานะอยู่อย่างละเอียดจนเป็นพระอนาคามี ก็จะแทบไม่มีโทษภัย จนกว่าจะพ้นจากมานะเป็นอิสระสิ้นเชิงเมื่อบรรลุอรหัตผล ซึ่งจะเป็นอยู่ด้วยปัญญาบริสุทธิ์สืบไป

2. ในภาษาไทย มานะมีความหมายเพี้ยนไปเป็นว่า เพียรพยายาม ขยันมุ่งมั่น เช่นในคำว่า มานะพากเพียร มุมานะ