คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : มุขปาฐะ

“บอกด้วยปาก”, การว่าปากเปล่า หมายถึง การสวด สาธยาย บอกกล่าว เล่าเรียน สืบทอดกันมาด้วยปาก ต่อปากโดยตรง ไม่ใช้ตัวหนังสือ, เป็นวิธีครั้งโบราณ ในการรักษาคัมภีร์ให้เที่ยงตรงแม่นยำ (เช่น มีการกำกับ กำชับ ทบทวน และสอบทานกันต่อหน้าได้เต็มที่) เมื่อยังไม่มีแม่แบบที่จะพิมพ์ข้อความออกมาให้ตรงกันแน่นอนทั้งหมด และถือว่าการคัดลอกเป็นวิธีสืบทอดข้อความที่ไม่อาจไว้วางใจ เช่น ในมหาวงส์ (๑/๒๕๐๑/๒๓๕) ว่า “ภิกษุทั้งหลายผู้มีความรู้ความคิดกว้างขวาง ในกาลก่อน นำพระบาลีแห่งพระไตรปิฎกและแม้อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกนั้นมา โดยมุขปาฐะ”, ในภาษาไทย มุขปาฐะมีความหมายเลือนลงมาในแง่ที่กลายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยหนักแน่นหรือไม่ค่อยเป็นหลักฐาน หมายถึง ข้อความที่ท่องจำกันมาด้วยปากเปล่า ไม่ได้เขียนไว้, เรื่องที่เล่าต่อปากกันมา; มุขบาฐ ก็เขียน