ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : อโศกมหาราช
มหาราชแห่งชมพูทวีป ซึ่งเป็นราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ใน พ.ศ.๒๑๘-๒๖๐ เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะ (ปัจจุบันคือดินแดนแถบแคว้น Orissa) ที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดีย แต่ในการสงครามนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์สลดพระทัยพอดีได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา ทรงเลื่อมใส ได้ทรงเลิกการสงคราม หันมาถือหลัก “ธรรมวิชัย” คือ ชนะใจด้วยธรรม มุ่งทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างสรรค์ประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในทางสันติ โปรดให้เขียนสลักศิลาจารึก (เรียกว่า “ธรรมลิปิ” คือ ลายสือธรรม หรือธรรมโองการ) ไว้ในที่ต่างๆ ทั่วมหาอาณาจักร เพื่อสื่อพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชบาย และสอนธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทรงอุปถัมภ์การสังคายนา ครั้งที่ ๓ และการส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่น พระมหินทเถระไปยังลังกาทวีป และพระโสณะพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ เป็นต้น, ก่อนทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงปรากฏพระนามว่า จัณฑาโศก คือ อโศกผู้โหดร้าย ครั้นหันมาทรงนับถือพระพุทธศาสนาและดำเนินนโยบายธรรมวิชัยแล้ว ได้รับขนานพระนามใหม่ว่า ธรรมาโศก คือ อโศกผู้ทรงธรรม ชาวพุทธไทยแต่เดิมมามักเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช; เมื่ออินเดียเป็นเอกราชพ้นจากการปกครองของอังกฤษใน พ.ศ.๒๔๙๐ แล้ว ก็ได้นำเอารูปพระธรรมจักร ซึ่งทูนอยู่บนหัวสิงห์ยอดเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่สารนาถ (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ทรงแสดงปฐมเทศนา) มาเป็นตราสัญลักษณ์ที่กลางผืนธงชาติ และใช้รูปสิงห์ทั้งสี่ที่ทูนพระธรรมจักรนั้น เป็นตราแผ่นดินสืบมา