คำศัพท์ :
ญาณ ๑๖ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่าง, ญาณ ๑๖ นี้ มิใช่เป็นหมวดธรรมที่มาครบชุดในพระบาลีเดิมโดยตรง แต่พระอาจารย์ปางก่อนได้ประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ และวิสุทธิมัคค์ แล้วสอนสืบมา บางทีเรียกให้เป็นชื่อชุดเลียนคำบาลีว่า
"โสฬสญาณ" หรือเรียกกึ่งไทยว่า "ญาณโสฬส", ทั้งนี้ ท่านตั้ง
วิปัสสนาญาณ ๙ เป็นหลักอยู่ตรงกลางแล้วเติมญาณขั้นต้นๆ ที่ยังไม่จัดเป็นวิปัสสนาญาณ เพิ่มเข้าก่อนข้างหน้าและเติมญาณขั้นสูงที่เลยวิปัสสนาญาณไปแล้ว เข้ามาต่อท้ายด้วย ให้เห็นกระบวนการปฏิบัติตลอดแต่ต้นจนจบ จึงเป็นความปรารถนาดีที่เกื้อกูลแก่การศึกษาไม่น้อย,
ญาณ ๑๖ นั้น ดังนี้ (ในที่นี่ จัดแยกให้เห็นเป็น ๓ ช่วง เพื่อความสะดวกในการศึกษา) คือ
ก)
ก่อนวิปัสสนาญาณ: ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป (นามรูปปริคคหญาณ หรือสังขารปริจเฉทญาณ ก็เรียก)
๒. (นามรูป)ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป (บางทีเรียก กังขาวิตรณญาณ หรือธัมมัฏฐิติญาณ)
๓. สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
ข)
วิปัสสนาญาณ ๙: ๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
ค)
เหนือวิปัสสนาญาณ: ๑๓. โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร คือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
๑๔. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค
๑๕. ผลญาณ ญาณในอริยผล
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน
อนึ่ง คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ถือต่างจากที่กล่าวมานี้บ้าง โดยจัดญาณที่ ๒ (สัมมสนญาณ) เป็นวิปัสสนาญาณด้วย จึงเป็นวิปัสสนาญาณ ๑๐ อีกทั้งเรียกชื่อญาณหลายข้อให้สั้นลง เป็น ๔.อุทยัพพยญาณ ๕.ภังคญาณ ๖.ภยญาณ ๗.อาทีนวญาณ ๘.นิพพิทาญาณ ๑๐.ปฏิสังขาญาณ ๑๒.อนุโลมญาณ (นอกนั้นเหมือนกัน) ทั้งนี้ พึงทราบเพื่อไม่สับสน
มีข้อพึงทราบพิเศษว่า เมื่อผู้ปฏิบัติก้าวหน้ามาจนเกิดวิปัสสนาญาณข้อแรกคืออุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ชื่อว่าได้ ตรุณวิปัสสนา (วิปัสสนาอ่อนๆ) และในตอนนี้ วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น ชวนให้สำคัญผิดว่าถึงจุดหมาย แต่เมื่อรู้เท่าทัน กำหนดแยกได้ว่าอะไรเป็นทางอะไรมิใช่ทาง ก็จะผ่านพ้นไปได้ อุทยัพพยญาณนั้นก็จะพัฒนาเป็นมัคคามัคคญาณ เข้าถึงวิสุทธิคือความบริสุทธิ์ที่สำคัญขั้นหนึ่ง เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (วิสุทธิข้อที่ ๕), อุทยัพพยญาณที่ก้าวมาถึงตอนนี้ คือเป็นวิปัสสนาญาณที่เดินถูกทาง ผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสมาได้แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นพลววิปัสสนา (วิปัสสนาที่มีกำลัง หรือแข็งกล้า) ซึ่งจะเดินหน้าพัฒนาเป็นวิปัสสนาญาณที่สูงขึ้นต่อๆ ไป
บางทีท่านกล่าวถึงตรุณวิปัสสนาและพลววิปัสสนา โดยแยกเป็นช่วงซึ่งกำหนดด้วยญาณต่างๆ คือ ระบุว่า (ช่วงของ) ญาณ ๔ คือ สังขารปริจเฉทญาณ กังขาวิตรณญาณ สัมมสนญาณ และมัคคามัคคญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา และ (ช่วงของ) ญาณ ๔ คือ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ และสังขารุเปกขาญาณเป็นพลววิปัสสนา
ในญาณ ๑๖ นี้ ข้อ ๑๔ และ ๑๕ (มัคคญาณ และผลญาณ) เท่านั้น เป็นโลกุตตรญาณ อีก ๑๔ อย่างนอกนั้น เป็นโลกิยญาณ
ดู วิปัสสนาญาณ ๙, วิสุทธิ ๗