คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : อรัญวาสี

“ผู้อยู่ป่า”, พระป่า หมายถึง พระภิกษุที่อยู่วัดในป่า, เป็นคู่กับคามวาสี หรือพระบ้าน ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่อยู่วัดในบ้านในเมือง; ในพุทธกาล ไม่มีการแบ่งแยกว่า พระบ้าน-พระป่า และคำว่า คามวาสี-อรัญวาสี ก็ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวม และมีการจาริกอยู่เสมอ โดยเฉพาะพระพุทธองค์เองทรงนำสงฆ์หมู่ใหญ่จาริกไปในถิ่นแดนทั้งหลายเป็นประจำ ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่จบกิจในพระศาสนา นอกจากเสาะสดับคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ย่อมระลึกอยู่เสมอถึงพระดำรัสเตือนให้เสพเสนาสนะอันสงัดเจริญภาวนา โดยทรงระบุป่าเป็นสถานที่แรกแห่งเสนาสนะอันสงัดนั้น (ที่ตรัสทั่วไปคือ “อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา…” – ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปอยู่ในป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี…; ที่ตรัสรองลงไปคือ “… วิวิตฺตํ เสนาสนํ ภชติ อรญฺญํ รุกฺขมูลํ ปพฺพตํ กนฺทรํ คิริคุหํ สุสานํ วนปตฺถํ อพฺโภกาสํ ปลาลปุญฺชํ…” – [ภิกษุนั้น] …เข้าหาเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา ป่าช้า ดงเปลี่ยว ที่แจ้ง ลอมฟาง…) แนวทางปฏิบัติเช่นนี้ ท่านถือแน่นแฟ้นสืบกันมา แม้ว่าสาระจะอยู่ที่มีเสนาสนะอันสงัด แต่ป่าซึ่งในอดีตมีพร้อมและเป็นที่สงัดอันแน่นอน ก็เป็นที่พึงเลือกเด่นอันดับแรก จึงนับว่าเป็นตัวแทนที่เต็มความหมายของเสนาสนะอันสงัด ดังปรากฏเป็นคาถาที่กล่าวกันว่าพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รจนาไว้อันเป็นที่อ้างอิงในคัมภีร์ทั้งหลาย ตั้งแต่มิลินทปัญหา จนถึงวิสุทธิมัคค์ และในอรรถกถาเป็นอันมาก มีความว่า

ยถาปิ ทีปิโก นาม นิลียิตฺวา คณฺหตี มิเค

ตเถวายํ พุทฺธปุตฺโต ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก

อรญฺญํ ปวิสิตฺวาน คณฺหาติ ผลมุตฺตมํ ฯ

(พุทธบุตรนี้ ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา เข้าไปสู่ป่า จะถือเอาผลอันอุดม [อรหัตตผล] ได้ เหมือนดังเสือซุ่มตัวจับเนื้อ)

ตามคตินี้ การไปเจริญภาวนาในป่า เป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับภิกษุทุกรูปเสมอเหมือนกัน ไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ว่า ในคัมภีร์มิลินทปัญหา (ประมาณ พ.ศ.๕๐๐) ก็ยังไม่มีคำว่า คามวาสี และอรัญวาสี (พบคำว่า “อรญฺญวาสา” แห่งเดียว แต่หมายถึง ดาบสชาย-หญิง) แม้ว่าต่อมาในอรรถกถา (ก่อน จนถึงใกล้ พ.ศ.๑๐๐๐) จะมีคำว่า คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ใช้เป็นถ้อยคำสามัญ หมายถึงใครก็ได้ ตั้งแต่พระสงฆ์ ไปจนถึงสิงสาราสัตว์ (มักใช้แก่ชาวบ้านทั่วไป) ที่อยู่บ้าน อยู่ใกล้บ้าน หรืออยู่ในป่า มิได้มีความหมายจำเพาะอย่างที่เข้าใจกันในบัดนี้

พระภิกษุที่ไปเจริญภาวนาในป่านั้นอาจจะไปอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ยาวบ้างสั้นบ้าง และอาจจะไปๆ มาๆ แต่บางรูปก็อาจจะอยู่นานๆ ภิกษุที่อยู่ป่านั้นท่านเรียกว่า “อารัญญกะ” (อารัญญิกะ ก็เรียก) และการถืออยู่ป่า เป็นธุดงค์อย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุจะเลือกถือได้ตามสมัครใจ กับทั้งจะถือในช่วงเวลายาวหรือสั้น หรือแม้แต่ตลอดชีวิต ก็ได้

สันนิษฐานว่า เมื่อเวลาล่วงผ่านห่างพุทธกาลมานาน พระภิกษุอยู่ประจำที่มากขึ้น อีกทั้งมีภาระผูกมัดตัวมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเล่าเรียนและทรงจำพุทธพจน์ในยุคที่องค์พระศาสดาปรินิพพานแล้ว ซึ่งจะต้องรักษาไว้แก่คนรุ่นหลังให้ครบถ้วนและแม่นยำโดยมีความเข้าใจถูกต้อง อีกทั้งต้องเก็บรวบรวมคำอธิบายของอาจารย์รุ่นต่อๆ มาที่มีเพิ่มขึ้นๆ จนเกิดเป็นงานหรือหน้าที่ที่เรียกว่า “คันถธุระ” (ธุระในการเล่าเรียนพระคัมภีร์) เป็นภาระซึ่งทำให้รวมกันอยู่ที่แหล่งการเล่าเรียนศึกษาในชุมชนหรือในเมือง พร้อมกันนั้น ภิกษุผู้ไปเจริญภาวนาในป่า เมื่อองค์พระศาสดาปรินิพพานแล้ว ก็อิงอาศัยอาจารย์ที่จำเพาะมากขึ้น มีความรู้สึกที่จะต้องผ่อนและเผื่อเวลามากขึ้น อยู่ประจำที่แน่นอนมากขึ้น เพื่ออุทิศตัวแก่กิจในการเจริญภาวนา ซึ่งกลายเป็นงานหรือหน้าที่ที่เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” (ธุระในการเจริญกรรมฐานอันมีวิปัสสนาเป็นยอด) โดยนัยนี้ แนวโน้มที่จะแบ่งเป็นพระบ้าน-พระป่าก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

การแบ่งพระสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย คือ คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นในลังกาทวีป และปรากฏชัดเจนในรัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุ ที่ ๑ มหาราช (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙) ต่อมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงรับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ลังกาวงศ์อันสืบเนื่องจากสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุนี้เข้ามาในช่วงใกล้ พ.ศ.๑๘๒๐ ระบบพระสงฆ์ ๒ แบบ คือ คามวาสีและอรัญวาสี ก็มาจากศรีลังกาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย
ดู วิปัสสนาธุระ

คู่กับ คามวาสี