คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : อภิสัมพุทธคาถา

“คาถาของพระองค์ผู้ตรัสรู้แล้ว”, คาถาที่ตรัสเมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว (แยกต่างหากจากคาถาที่ตรัสเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์), เป็นคำที่แทบไม่พบในที่อื่นนอกจากอรรถกถาชาดก (พบในอรรถกถาเปตวัตถุ ๑ ครั้ง) ทั้งนี้เพราะในชาดกนั้น พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องอดีตครั้งทรงเป็นพระโพธิสัตว์ และตรัสคำสอนของพระองค์เช่นคติที่พึงได้จากเรื่องอดีตนั้นด้วย ดังนั้น คำพูดในเรื่องจึงมีทั้งคำของพระโพธิสัตว์ในอดีตเมื่อยังไม่ตรัสรู้ มีทั้งคำของบุคคลอื่นที่โต้ตอบในเรื่องนั้น และมีพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสคติหรือข้อสรุปไว้ คำของทุกบุคคลในเรื่องมาด้วยกันในพระไตรปิฎกตอนนั้น และตามปกติเป็นคาถาทั้งนั้น บางครั้งพระอรรถกถาจารย์จะให้เราแยกได้ จึงบอกให้รู้ว่าในเรื่องนั้นๆ คาถาตรงนี้ๆ เป็นอภิสัมพุทธคาถา คือเป็นคาถาที่พระองค์ตรัสเอง ไม่ใช่ของบุคคลอื่นในเรื่อง และไม่ใช่ของพระโพธิสัตว์ในเรื่อง

ดังตัวอย่างในชาดกเรื่องแม่นกไส้ ตรัสเล่าว่า แม่นกไส้ (นกชนิดนี้วางไข่บนพื้นดิน) มีลูกหลายตัวเพิ่งออกจากไข่ ยังบินไม่ได้ และพอดีอยู่บนทางที่ช้างเที่ยวหากิน วันนั้น ช้างโพธิสัตว์นำช้างโขลงใหญ่ผ่านมา แม่นกไส้เข้าไปยืนขวางหน้าและกล่าว (เป็นคาถา) ว่า “ฉันขอไหว้ท่านพญาช้างผู้สูงวัยอายุถึง ๖๐ ปี มีกำลังอ่อนถอยลง แต่เป็นเจ้าโขลงยิ่งใหญ่แห่งแดนป่า ฉันขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง โปรดอย่าฆ่าลูกอ่อนตัวน้อยๆ ของฉันเสียเลย” ช้างโพธิสัตว์ฟังแล้วก็สงสาร เข้ามายืนคร่อมบังลูกนกทั้งหมดไว้ จนโขลงช้างผ่านเลยไป และลูกนกปลอดภัย แต่ต่อมา ช้างร้ายตัวหนึ่งซึ่งเที่ยวไปลำพังผ่านมา แม่นกไส้ก็เข้าไปยืนขวางหน้าและกล่าวว่า “ฉันขอไหว้ท่านพญาช้างผู้จรเดี่ยวแห่งแดนป่า เที่ยวหาอาหารตามขุนเขา ฉันขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง โปรดอย่าฆ่าลูกอ่อนตัวน้อยๆ ของฉันเสียเลย” แต่เจ้าช้างพาลไม่ปรานี กลับพูดแสดงอำนาจว่า “แน่ะนางนกไส้ ข้าจะฆ่าลูกน้อยของเจ้าเสีย เจ้าไม่มีกำลังจะมาทำอะไรข้าได้ อย่างพวกเจ้านี่ให้ร้อยตัวพันตัว ข้าจะเอาเท้าซ้ายข้างเดียวขยี้ให้ละเอียดไปเลย” ว่าแล้วก็เอาเท้าเหยียบขยี้ลูกนกแหลกละเอียดทั้งหมดและร้องแปร๋แปร๋นวิ่งแล่นไป ฝ่ายแม่นกไส้แค้นนัก ฮึดขึ้นมาในใจว่า “มิ ใช่ว่าใครมีกำลังแล้วจะทำอะไรก็ได้ไปทั่วทั้งหมด กำลังของคนพาลนี่แหละ มีไว้ฆ่าคนพาล เจ้าช้างใหญ่เอ๋ย ใครฆ่าลูกอ่อนตัวน้อยๆ ของข้า ข้าจักทำให้มันย่อยยับ” ผูกใจว่าจะได้รู้กันระหว่างกำลังร่างกายกับกำลังปัญญา แล้วแม่นกไส้ก็คิดวางแผน และไปขอความร่วมมือจากสัตว์เล็กอื่นอีก ๓ ตัว คือ กา กบ และแมลงวันหัวเขียว เริ่มด้วยกาหาจังหวะจิกลูกตาทั้งสองข้างของเจ้าช้างพาล แล้วแมลงวันหัวเขียวก็มาไข่ใส่ลูกตาที่บอด พอถูกหนอนชอนไชตา ช้างเจ็บปวดมาก และกระหายเที่ยวหาน้ำทั้งที่ตามองไม่เห็น ถึงทีกบก็ขึ้นไปร้องบนยอดเขา ช้างนึกว่ามีน้ำที่นั่นก็ขึ้นไป กบก็ลงมาร้องที่หน้าผา ช้างมุ่งหน้ามาหาน้ำ ถึงหน้าผาก็ลื่นไถลตกลงไปตายอยู่ที่เชิงเขา แม่นกไส้ก็บินลงมาเดินไปมาบนตัวช้างด้วยความสมใจดีใจ เรื่องจบลงโดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงดูเถิด แม่นกไส้ กา กบ และแมลงวันหัวเขียว สัตว์ทั้งสี่นี้ร่วมใจกันฆ่าช้างเสียได้ ท่านจงดูคติของคนมีเวรที่ทำต่อกัน เพราะฉะนั้นแลท่านทั้งหลาย ไม่ควรก่อเวรกับใครๆ ถึงจะเป็นคนที่ไม่รักไม่ชอบกัน” ในชาดกนี้มีคำกล่าว ๕ คาถา จะเห็นชัดว่า ๔ คาถาแรกเป็นคาถาของบุคคลอื่นในเรื่อง แต่เฉพาะคาถาที่ ๕ เป็นอภิสัมพุทธคาถา