ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31
[คลิก]
คำศัพท์ : อภินิเวศ, อภินิเวส
(บาลี: อภินิเวส) การยึดถือ, การจับเอา, การคว้าไว้ 1. ในพระไตรปิฎก โดยทั่วไปมาเดี่ยวๆ เป็นคำโดด แปลว่า ความยึดมั่น, ความยึดติดถือมั่น. ความมั่นหมาย เช่นในพุทธพจน์ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” (องฺ.สตฺตก.23/58/90; ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น, สิ่งทั้งปวงไม่อาจยึดมั่นเอาไว้ได้) มักมาในฐานะเป็นไวพจน์ของทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ เช่นเดียวกับ ปรามาส อุปาทาน เป็นต้น และอรรถกถา-ฏีกาอาจไขความให้ด้วยว่าเป็นความยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิ หรือเต็มทั้งชุดว่า ตัณหามานะและทิฏฐิ (อภินิเวสที่ใช้ในความหมายอื่นมีบ้างน้อยแห่ง เช่น องฺ.ฉกฺก.22/325/412 อภินิเวสหมายถึง ปริมณฑลที่กิ่งก้านของต้นไม้แผ่คลุม) 2. ในคัมภีร์ชั้นหลังตั้งแต่อรรถกถา มีการใช้อภินิเวสในความหมายว่าจับเริ่มประเดิม ลงมือทำ เข้าสู่การปฏิบัติ (อารัมภ, อนุปเวส, ปฏิปตฺติ) ดังที่ว่า อภินิเวส มี ๒ คือ สมถาภินิเวส การเข้าปฏิบัติด้วยสมถะ, การจับเอาสมถะเป็นทางปฏิบัติ และวิปัสสนาภินิเวส การเข้าปฏิบัติด้วยวิปัสสนา, การจับเอาวิปัสสนาเป็นทางปฏิบัติ (ปญฺจ.อ.๕๒; แต่ สํ.อ.๓/๓๑๕ ว่า ๒ คือ สัทธาภินิเวส และวิปัสสนาภินิเวส); และในวิปัสสนาก็มีการใช้อภินิเวสในความหมายว่าปริเคราะห์คือกำหนดรู้ จับพลิกหมุนตรวจดู พิจารณา (ปริคคหะ, สัมมสนะ)