คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : อภิธรรม

ธรรมอันยิ่ง, ธรรมเหนือขึ้นไป; ในพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก มีคำว่า “อภิธรรม” มาด้วยกันเป็นคู่กับคำว่า “อภิวินัย” บ่อยมาก เช่นในวินัยว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพร้อมด้วยองค์ ๖ จึงควรให้อุปสมบท ควรให้นิสสัย ควรให้สามเณรอุปัฏฐาก คือ ๑. สามารถให้อันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกศึกษาในสิกขาอันเป็นอภิสมาจาร ๒. สามารถฝึกนำ ในสิกขาที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ๓. สามารถฝึกนำในอภิธรรม ๔. สามารถฝึกนำในอภิวินัย ๕. สามารถเปลื้องความเห็นผิดที่เกิดขึ้นได้โดยธรรม ๖. มีพรรษา ๑๐ หรือเกิน ๑๐” (วินย.4/99/142), ในพระสูตร เช่น (ในนาถกรณธรรม ๑๐ ข้อ ๖) “…ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม (ธมฺมกาโม) รู้จักฟังรู้จักแสดงธรรมอย่างน่ารัก มีปราโมทย์เปี่ยมล้นในอภิธรรม ในอภิวินัย...ข้อนี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นที่พึ่งได้” (องฺ.ทสก.24/17/26), (ในธรรมที่พระป่า/อารัญญกะพึงถือปฏิบัติ ๑๗ ข้อ ๑๕) “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถืออยู่ป่า (อารัญญกะ) ควรเพียรประกอบในอภิธรรม ในอภิวินัย...ถ้าภิกษุผู้ถืออยู่ป่า ถูกถามปัญหาในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว ตอบให้พอแก่ความไม่ได้ ก็จะมีผู้พูดแก่เธอได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว ก็ตอบให้พอแก่ความไม่ได้จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้อยู่ผู้เดียวเป็นอารัญญกะ...” (ม.ม.13/218/219)

“อภิธรรม” และ “อภิวินัย” ในกรณีอย่างนี้ มีความหมายอย่างไร อรรถกถา แสดงไว้ ๒ นัย (เช่น ที.อ.๓/๒๔๗; องฺ.อ.๓/๓๒๓) นัยหนึ่งว่า ธรรม หมายถึง พระสุตตันตปิฎก อภิธรรม หมายถึง เจ็ดพระคัมภีร์ (สัตตัปปกรณะ คืออภิธรรมเจ็ดคัมภีร์), วินัย หมายถึง อุภโตวิภังค์ (คือ มหาวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์) อภิวินัย หมายถึง ขันธกะ และปริวาร

อีกนัยหนึ่ง ธรรม ได้แก่ทั้งพระสุตตันตปิฎก ทั้งพระอภิธรรมปิฎก อภิธรรม หมายถึงมรรคผล, วินัย ได้แก่วินัยปิฎกทั้งหมด อภิวินัย หมายถึง การทำกิเลสให้สงบระงับไปได้

อย่างไรก็ตาม ในพระสูตรบางแห่งมีคำว่า “อภิธรรม” มาโดดเดี่ยว ไม่มี “อภิวินัย” มาด้วย ดังที่ตรัสในกินติสูตร (ม.อุ.14/44/42) ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดังที่ว่านั้น พวกเธอมีความดำริในเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยเกื้อการุณย์ ทรงใฝ่หาประโยชน์ให้ จึงทรงแสดงธรรมด้วยอาศัยพระกรุณา เพราะฉะนั้นแล ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วด้วยความรู้ยิ่ง แก่เธอทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาในธรรมเหล่านั้น; ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกันยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ หากจะมีภิกษุสองรูปมีวาทะต่างกันใน อภิธรรม;…” (ธรรมที่ทรงแสดงด้วยความรู้ยิ่ง คือทรงแสดงด้วยพระปัญญารู้เห็นประจักษ์ = อภิญญาเทสิตธรรม อันได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ดังที่ตรัสไว้นั้น) ตรงนี้ อรรถกถา (ม.อ.๔/๑๘) ไขความว่าอภิธรรม ก็คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการที่ตรัสข้างต้นนั้นเอง