คำศัพท์ :
สังเวชความสลดใจคิดได้ หรือให้ได้คิด, ความสลดใจได้คิดหักหันจิตพลิกฟื้นให้เกิดมีกำลังพรั่งพร้อมขึ้นมาที่จะไม่ประมาทเร่งทำการที่ควรทำให้สำเร็จ, ความรู้สึกเตือนสำนึก ปลุกสำนึก หรือทำให้ฉุกคิด, ความรู้สึกกระตุ้นใจให้คิดได้ ให้คำนึงธรรม ให้ตระหนักถึงความจริงของชีวิต และเร้าเตือนให้ไม่ประมาท หรือให้กลับตัวได้
"สังเวช" เป็นศัพท์ธรรมคำหนึ่งที่เข้ามาในภาษาไทยแล้วในปัจจุบันได้เพี้ยนความหมายไปห่างไกลแทบจะกลับตรงข้าม กลายเป็นความรู้สึกสลดหรือเศร้าสลด แล้วหงอยหรือหดหู่ห่อเหี่ยวไปเสีย
ตามความหมายที่แท้ "สังเวช-" เป็นรูปกริยาของคำนามว่า "สังเวค" คือ "สํ" (พรั่ง, พร้อม) + "เวค" (กำลังแรง, ความเร็ว) จึงแปลว่า แรงพลุ่ง, แรงเร่ง, แรงกระตุ้น หรือพลังที่ปลุกเร้า หมายถึง แรงกระตุ้นเร้าเตือนใจ ให้ได้คิดหรือสำนึกขึ้นมาได้ ให้คิดถึงธรรม หรือตระหนักถึงความจริงความดีงาม อันทำให้ตื่นหรือถอนตัวขึ้นมาจากความเพลิดเพลิน ความหลงละเลิงปล่อยตัวมัวเมา หรือความประมาท แล้วหักหันไปเร่งเพียรทำการที่ตระหนักรู้ว่าจะพึงทำด้วยความไม่ประมาทต่อไป
ความสังเวช คือความปลุกสำนึกตื่นตระหนักได้รู้ได้คิดนี้ มีคุณค่าอย่างสำคัญที่ทำให้หายมัวเมาละเลิกความลุ่มหลงเพลิดเพลิน กลับตัวได้ หันมาทำกิจหน้าที่ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บางคนอาจประสบเหตุการณ์กระทบใจที่ทำให้สังเวชคิิดได้และกลับตัวหรือเปลี่ยนพฤติกรรมดำเนินชีวิตใหม่ที่ดีด้วยตนเอง แต่ในการศึกษา ท่านไม่รอความบังเอิญอย่างนั้น พระพุทธเจ้าและบัณฑิตผู้หวังดีนิยมเลือกหรือสร้างโอกาสที่จะกล่าวถ้อยคำบ้าง ใช้สถานการณ์บางอย่างบ้างที่จะทำให้บุคคลนั้นๆ สังเวช หรือเกิดความสังเวช คือสลดใจได้คิด หรือสำนึกตระหนักรู้คิดได้หายลุ่มหลงมัวเมา และคิดที่จะทำกิจหน้าที่เร่งทำความดี ที่จะเป็นอยู่อย่างถูกต้องสมควร พูดสั้นๆ ว่าที่จะปฏิบัติธรรม โดยไม่ประมาทต่อไป
คัมภีร์แห่งหนึ่งอธิบายไว้สั้นๆ มีใจความว่า การเกิดมานะคือลำพองใจว่าข้านี้อายุยืน จะอยู่อีกนาน ข้าสุขสบายแล้ว ฯลฯ อย่างนี้เรียกว่าเมาชีวิต เมื่อเมาก็ประมาท ท่านจึงทำให้เขาเกิดความสังเวช คือได้สำนึก คิดได้ ซึ่งจะทำให้เขาเกิดอุตสาหกรรมในสัทธรรม เพราะความสังเวชเป็นเหตุแห่งอุตสาหะ
เรื่องราวตัวอย่างในคัมภีร์มีมากมาย เช่น เมื่อพระมหาโมคคัลลานะบวชได้ ๗ วัน บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ มัวง่วงเหงาหาวนอน พระพุทธเจ้าได้ทำให้ท่านสังเวช โดยตรัสว่า "แน่ะโมลคัลลานะอย่าให้ความพยายามของเธอสูญเปล่าไปเสีย" ดังนี้เป็นต้น ทำให้ท่านสังเวชแล้วแก้ความง่วงเหงาและบำเพ็ญเพียรจนได้ลุมรรคผลจนจบสิ้น (อป.อ.๑/๒๘๗)
อีกตัวอย่างหนึ่งว่า ภิกษุรูปหนึ่งไปอยู่ในไพรสณฑ์ คราวหนึ่ง ขณะพักกลางวัน เธอคิดอกุศลในเรื่องของชีวิตชาวบ้าน เทวดาที่นั่นหวังดี จะให้เธอสังเวช จึงเข้ามาหาและกล่าวกะเธอว่า "ท่านปรารถนาวิเวก จึงเข้าป่า แต่ใจของท่านซ่านแส่ไปข้างนอก...ท่านมีสติ ก็จะละความเบื่อหน่ายได้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านระลึกถึงธรรมของสันตชน...อย่าให้ธุลีกามพาเอาตัวท่านไปเสีย ภิกษุมีความเพียร มีสติ ย่อมสลัดธุลีกิเลสที่แปดเปื้อนให้หลุดไป เหมือนนกตัวเปื้อนฝุ่นสลัดธุลีที่ิติดเปื้อนตัวให้หลุดได้" คำเตือนของเทวดานี้ได้ทำให้ภิกษุนั้นสังเวช คือสำนึกได้ (สํ.ส.15/761/290)
คราวหนึ่ง ที่วัดบุพพาราม ภิกษุรุ่นนวกะมากรูปนั่งสนทนากันที่ชั้นบนของมิคารมาตุปราสาท เอาเรื่องไร้สาระมาคุยกัน พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์ให้ภิกษุเหล่านั้นสังเวชแล้วจะแสดงธรรมสั่งสอน จึงตรัสให้พระมหาโมคคัลลานะไปดู พระมหาโมคคัลลานะได้ใช้นิ้วหัวแม่เท้าเขี่ยยอดปราสาท ทำให้ปราสาทไหวโอนเอน ภิกษุเหล่านั้นหวาดกลัว ได้สังเวช และกลัวปราสาทจะพัง พากันหนีลงมา ออกจากปราสาท ไปยืนใกล้พระพุทธเจ้า เมื่อโอกาสเหมาะ พระองค์จึงตรัสสอนธรรมแก่พวกเธอซึ่งมีสภาพจิตพร้อมแล้วที่จะรับ (ขุ.เถร.๒/๕๔๙)
อีกคราวหนึ่ง ที่วัดบุพพารามนั่นแหละ พระอินทร์มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลถามปัญหาเกี่ยวกับนิพพาน ครั้นได้ฟังคำวิสัชนาแล้ว ทรงปราโมทย์ดีพระทัย และทูลลากลับไป พระมหาโมคคัลลานะคิดว่าที่พระอินทร์ฟังเรื่องลึกซึ้งขนาดนั้นกลับไปนี้ เข้าใจจริงหรือไม่ จึงตามไปสอบถาม พระอินทร์นั้นกำลังเพลินกับทิพยสมบัติ ก็อธิบายพร่าสับสน พระมหาโมคคัลลานะจะให้พระอินทร์สังเวช จึงใช้นิ้วหัวแม่เท้าเขี่ยให้เวชยันตปราสาทหวั่นไหว ทำให้พระอินทร์ตกใจ ได้สังเวช หายประมาทแล้ว มีโยนิโสมนสิการ จึงตอบชี้แจงเรื่องนั้นได้เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พระองค์ (ขุ.เถร.๒/๕๕๐)
ความหมายของ "สังเวช" ที่อธิบายยากและมักเข้าใจกันผิด น่าจะชัดเจนขึ้นด้วยเรื่องราวที่นำมาเล่าเป็นตัวอย่างนี้
สังเวชนั้นโดยทั่วไปเป็นความสังเวชโดยคำนึงธรรมอยู่แล้ว แต่ไม่เสมอไป สังเวชที่เป็นแรงพลุ่งขึ้นของความกลัว เป็นความตื่นภัย ทำให้รีบหนีไปก็มี เป็นแรงพลุ่งของความโกรธก็มี เป็นแรงพลุ่งของปีติก็มี ด้วยเหตุนี้ บางครั้งจึงมีการอธิบายกำกับว่า ที่ท่านผู้โน้นบอกว่า "สังเวช" นั้น หมายถึง "ธรรมสังเวช" เช่น เมื่ออรรถกถาแห่งหนึ่งบอกว่าพระอานนท์ถึงความสังเวช (ที.อ.๑/๙) ก็มีคัมภีร์ฏีกาอธิบายว่า ที่อรรถกถาว่าสังเวชตรงนั้น เป็นธรรมสังเวช (ที.อภินวฏี.๑/๘๙) ดังนั้น บางที "สังเวช" จึงมีคำว่า "ธรรม" กำกับนำหน้า เป็น "ธรรมสังเวช" เพื่อให้แน่ชัดลงไปและหนักแน่นยิ่งขึ้น ในที่นี้จะแสดงความหมายที่หนักแน่นของ "ธรรมสังเวช" ไว้ด้วย
ธรรมสังเวช คือความสังเวชโดยคำนึงธรรม, ความปลงใจด้วยปัญญารู้เท่าทันความจริงแห่งธรรมดา พร้อมด้วยแรงใจที่จะพิจารณาปฏิบัติจัดการเรื่องนั้นให้เป็นไปตามธรรม
ธรรมสังเวชนี้ ในพระไตรปิฎก พบแห่งเดียว นอกนั้นมาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา-ฎีกา และมีคัมภีร์ชั้นอรรถกถา-ฎีกา และมีคัมภีร์ ๕ แห่ง บอกความหมายของธรรมสังเวชไว้ตรงตามกันว่า "ธมฺมสภาวจินฺตาวเสน ปวตฺตํสโหตฺตปฺปญาณํ ธมฺมสํเวโค" (เช่น วินย.ฏี.๑/๔๘) แปลพอเข้าใจว่า "ธรรมสังเวช คือความตระหนักรู้โดยมีแรงเร้าใจ (ญาณพร้อมด้วยโอตตัปปะ) ซึ่งเป็นไปโดยคำนึงถึงสภาวะแห่งธรรม"
ความหมายนี้จะไม่อธิบายมาก แต่จะให้เข้าใจด้วยการได้ฟังเรื่องราวตัวอย่าง
ในพระไตรปิฎก มีคำว่าสังเวชอยู่ทั่วไปราว ๑๕๐ แห่ง แต่มี "ธรรมสังเวช" แห่งเดียว (ในเถรีคาถา, ขุ.เถรี.26/463/469) ตามเรื่องว่า สตรีผู้หนึ่ง หลังจากแต่งงานมีบุตรคนหนึ่งชื่อว่า "วัฑฒ์" คนเรียกเธอว่า "วัฑฒมารดา" (คุณแม่ของวัฑฒ์) เธอมีศรัทธา ได้บวชเป็นภิกษุณี ต่อมา บุตรนั้นก็ได้ออกบวชเป็นภิกษุ อยู่มาวันหนึ่งพระวัฑฒ์มาหาพระเถรีผู้เป็นมารดาโดยมารูปเดียว พระเถรีได้พูดตักเตือนเธอไม่ให้ปล่อยตัวมัวอยู่กับความผูกพันที่พาให้เป็นภาคีของความทุกข์ ขอให้ตั้งใจบำเพ็ญมรรคให้ได้ปัญญาเห็นธรรมให้สิ้นทุกข์ พระวัฑฒ์จึงถามว่า แม่ไม่มีความรักผูกพันในตัวลูกแล้วหรือ พระเถรีตอบว่าตัวท่านไม่มีความผูกพันในสังขารทั้งหลายเลยแม้แต่น้อย ท่านสิ้นอาสวะ จบพระพุทธศาสนาแล้ว พระวัฑฒ์ได้ฟังอย่างนั้น ก็กล่าวว่า แม่หวังดีเอาปฏักใหญ่แทงตัวท่าน คำสอนที่แม่ตักเตือนนั้น ช่วยให้ท่านถึงธรรมสังเวชที่จะลุถึงเกษมธรรม แล้วพากเพียรเด็ดเดี่ยวจนได้สัมผัสอุดมสันติ
ในอรรถกถามีคำว่าธรรมสังเวชมาในหลายเรื่อง ว่าเฉพาะกรณีเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่รู้จักกันดี เช่น หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ๗ วัน ขณะเตรียมการจะถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ กำลังเดินทางจากปาวามายังกุสินารา ระหว่างทางท่านได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกที่เดินทางสวนมา เมื่อได้ทราบข่าวอย่างนั้น บรรดาภิกษุที่ยังไม่ปราศจากราคะได้พากันร่ำไห้คร่ำครวญไปต่างๆ "ส่วนภิกษุที่ปราศราคะแล้ว (ได้แก่พระอรหันต์และพระอนาคามี) มีสติสัมปชัญญะ วางใจได้ว่า สังขารไม่เที่ยง จะเอาอะไรกับสังขารได้จากที่ไหน" (ที.ม.10/154/188) ความเดิมในพระไตรปิฎกบาลีตอนนี้มีเท่านี้ แต่พระไตรปิฎกแปลภาษาไทยบางฉบับแปลแบบขยายความเติมคำว่าธรรมสังเวชลงไปว่า "ส่วนภิกษุเหล่าใด ปราศจากราคะแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นด้วยธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง..." (พระไตรปิฎกแปลไทยบางฉบับแปลเท่าความในพระไตรปิฎกบาลี ไม่เติมคำขยายความอย่างนี้ลงไป)
เรื่องดำเนินต่อไปว่า เวลานั้น สุภัททวุฒบรรพชิตซึ่งนั่งอยู่ที่นั่นด้วย ได้พูดห้ามภิกษุทั้งหลายไม่ให้ร้องไห้เศร้าโศก บอกว่าพวกเราพ้นไปได้ดีแล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้าทำให้พวกเราเดือดร้อน โดยตรัสว่าการนี้ควร การนี้ไม่ควร คราวนี้ละ อันใดอยากทำ พวกเราก็จะทำ อันใดไม่อยากทำ พวกเราก็จะไม่ทำ
คราวนั้น พระมหากัสสปะได้ยินคำของพระสุภัททะแล้วท่านยังไม่พูดอะไร แต่หันไปปลอบโยนเหล่าพระภิกษุให้มองเห็นความจริงของธรรมดาที่มีการเกิดดับจากพลัดพราก ซึ่งไม่เป็นไปตามใจปรารถนา แล้วนำหมู่คณะเดินทางสู่เมืองกุสินาราต่อไป เวลาผ่านไป หลังงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว เมื่อถึงโอกาส พระมหากัสสปะจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย และยกคำพูดของสุภัททวุฒบรรพชิตเป็นข้อปรารภในการชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย (วินย.7/614/380)
ตามความในพระไตรปิฎกที่เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ไม่มีคำว่า "ธรรมสังเวช" หรือแม้แต่ "สังเวช" อยู่ด้วยเลย และในตอนนี้เองที่อรรถกถาเล่าขยายความว่า พระมหากัสสปะได้ฟังคำของสุภัททวุฒบรรพชิตแล้ว ก็เกิดธรรมสังเวชว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแค่สัปดาห์เดียว ก็มีเสี้ยนหนามใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าคนบาปร้ายได้พวก ก็สามารถทำให้พระศาสนาเสื่อมถอยได้ คิดดังนี้แล้วท่านก็ตั้งใจว่าจะทำสังคายนา (ที.อ.๒/๒๐๙)
เรื่องดำเนินต่อมาอีก ก่อนสังคายนาครั้งแรกนั้น พระอานนท์เป็นพระเถระรูปเดียวที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ท่ามกลางพระอรหันต์ผู้ได้รับเลือกให้เข้าประชุม ครั้นเตรียมการประชุมเสร็จแล้ว ใกล้ถึงวันเริ่มสังฆกรรม มีพระบางรูปพูดเปรยๆ ว่า "ในภิกษุสงฆ์นี้ ยังมีภิกษุรูปหนึ่งพากลิ่นคาวเนื้อโชยไป" พระอานนท์ได้ยินก็รู้ว่าเขาหมายถึงตัว จึงเกิดความสังเวช (ที่ฏีกาอธิบายว่าเป็นธรรมสังเวช) และพระอีกบางรูปก็พูดแก่ท่านว่า "ท่านอานนท์ พรุ่งนี้แล้วนะจะมีการประชุม ตัวท่านเป็นเสขะ ยังมีกิจของตัวที่ต้องทำ ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สมควรเข้าร่วมประชุม ท่านจงอย่าได้ประมาท" คำเตือนและความสังเวชนี้ช่วยเร่งเร้าให้พระอานนท์เพียรบำเพ็ญธรรมจนได้เป็นพระอรหันต์ทันในราตรีสุดท้ายก่อนเริ่มการสังคายนา (ที่มา-ที่อ้างอิง บอกแล้วข้างต้น)
ความหมายของ "สังเวช" และ "ธรรมสังเวช" คงชัดขึ้นด้วยการเห็นตัวอย่างในเรื่องราวที่เล่ามานี้
ดู ธรรมสังเวช