คำศัพท์ :
ภูมิ1. พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน
2. ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ
๑. กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม
๒. รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน
๓. อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน
๔. โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลกหรือระดับพระอริยบุคคล, เรียกให้สั้นว่า กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตตรภูมิ, ภูมิ ๔ นี้ จัดประเภทได้เป็น ๒ ระดับ คือ สามภูมิแรก เป็นโลกิยภูมิ ส่วนภูมิที่สี่ เป็นโลกุตตรภูมิ, บางทีเรียก โลกิยภูมิ ๓ นั้นรวมกันว่า “ไตรภูมิ”
ใน ภูมิ ๔ นี้ สามภูมิแรก คือโลกิยภูมิ ๓ แยกย่อยออกไปได้เป็น ภูมิ ๓๑ คือ ๑. กามาวจรภูมิ ๑๑ แบ่งเป็นอบายภูมิ ๔ (นิรยะ – นรก, ติรัจฉานโยนิ – กำเนิดดิรัจฉาน, ปิตติวิสัย – แดนเปรต, อสุรกาย - พวกอสูร) และกามสุคติภูมิ ๗ (กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ คือ มนุษย์ และเทพชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี) ๒. รูปาวจรภูมิ ๑๖ ระดับของรูปพรหม แบ่งเป็น ก. ปฐมฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับปฐมฌาน ๓ คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา) ข. ทุติยฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับทุติยฌาน ๓ คือ ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา) ค. ตติยฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับตติยฌาน ๓ คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา) ง. จตุตถฌานภูมิ ๗ (พรหมระดับจตุตถฌาน ๗ คือ เวหัปผลา อสัญญีสัตว์ สุทธาวาส ๕ [ที่เกิดของพระอนาคามี ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา]) ๓. อรูปาวจรภูมิ ๔ ระดับของอรูปพรหม (พรหมระดับอรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)
คำว่า “ภูมิ” นี้ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ภพ” ซึ่งบางทีก็พูดควบคู่ไปด้วยกัน แต่ที่แท้นั้น ภูมิหมายถึงระดับของจิตใจ ส่วนภพหมายถึงภาวะชีวิตของสัตว์ หรือโลกที่อยู่ของสัตว์ ดังนั้น ภูมิจึงมี ๔ เพราะนับโลกุตตรภูมิด้วย ส่วนภพมีเพียง ๓ เพราะโลกุตตรภพไม่มี แต่ในที่ทั่วไป เมื่อยกโลกุตตรภูมิออกไปแล้ว ภูมิ ๓ ที่เป็นโลกีย์ บางทีก็ใช้อย่างคลุมๆ รวมไปถึงโลกที่อยู่ของสัตว์ มีความหมายคล้ายกับคำว่า ภพ ๓ ด้วย (เช่นคำว่า “ไตรภูมิ” ที่นำมาพูดกันในภาษาไทย)
ดู อริยบุคคล
เทียบ ภพ, คติ