คำศัพท์ :
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 31 [คลิก]
คำศัพท์ : สัทธา

ความเชื่อ, ความเชื่อถือในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม, ความเลื่อมใสซาบซึ้งชื่นใจสนิทใจเชื่อมั่นมีใจโน้มน้อมมุ่งแล่นไปตามไปรับคุณความดีในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ, ความมั่นใจในความจริง ความดี สิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก (ข้อ ๑ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๑ ในพละ ๕, ข้อ ๑ ในเวสารัชชกรณธรรม ๕, ข้อ ๑ ในอริยวัฑฒิ ๕, ข้อ ๑ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๑ ในอริยทรัพย์ ๗); เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ศรัทธา

ศรัทธาที่เป็นหลักแกนกลาง ซึ่งพบทั่วไปในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้เป็นข้อเดียว (เช่น องฺปญฺจก.22/53/74) คือ ตถาคตโพธิสัทธา ความเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต (คำบาลีว่า "สทฺทหติ ตถาคตสฺส โพธํ"; บางครั้ง เมื่อทรงแสดงคุณสมบัติของอริยสาวก จึงตรัสถึงอเวจจปสาทะ คือความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม และในพระสงฆ์ เช่น องฺนวก.23/231/420)

ศรัทธาที่มักกล่าวถึงในอรรถกถา ได้แก่ (อุ.อ.๒๓๕; อิติ.อ.๗๔; จริยา.อ.๓๓๖) สัทธา ๒ คือ ๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต ๒. กัมมผลสัทธา เชื่อกรรมและผลของกรรม, แต่หลายแห่ง (เช่น อุ.อ.๑๑๐; อิติ.อ.๓๕๓; เถร.อ.๑/๔๙๐) แสดงสัทธา ๒ คือ ๑. กัมมผลสัทธา เชื่อกรรมและผลของกรรม ๒. รตนัตตยสัทธา เชื่อพระรัตนตรัย (กัมมผลสัทธา เป็นโลกิยสัทธา, รตนัตตยสัทธา ถ้าถูกต้องจริงแท้เป็นประจักษ์ด้วยปัญญามั่นคงไม่หวั่นไหว เป็นโลกุตตรสัทธา); อย่างไรก็ตาม ที่รู้จักกันมาก คือ สัทธา ๔ ซึ่งเป็นชุดๆ สืบๆ กันมา ที่จัดรวมขึ้นภายหลังคือ ๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ ๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต

อรรถกถาทั้งหลายจำแนกว่ามี สัทธา ๔ ระดับ (เช่น ที.อ.๓/๒๒๗; ม.อ.๓/๒๓๗; องฺ.อ.๓/๒๙) คือ ๑. อาคมนสัทธา ความเชื่อความมั่นใจของพระโพธิสัตว์ อันสืบมาจากการบำเพ็ญสั่งสมบารมี (อาคมนียสัทธา หรืออาคมสัทธา ก็เรียก) ๒. อธิคมสัทธา ความเชื่อมั่นของพระอริยบุคคล ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงด้วยการบรรลุธรรมเป็นประจักษ์ (อธิคมนสัทธาก็เรียก) ๓. โอกัปปนสัทธา ความเชื่อหนักแน่นสนิทแน่วเมื่อได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปในการเห็นความจริง (โอกัปปนียสัทธา ก็เรียก, ท่านว่าตรงกับอธิโมกข์หรืออธิโมกขสัทธา) ๔. ปสาทสัทธา ความเชื่อที่เป็นเพียงความเลื่อมใสจากการได้ยินได้ฟัง